น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ขอประวัติเป็นมาของ พระอจนะ สุโขทัย

เรืองดาว

ตอบ เรืองดาว

พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่นาม “พระอจนะ” ประดิษฐานอยู่ในมณฑป วัดศรีชุม วัดสมัยสุโขทัยตอนต้น อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตัววัดเป็นโบราณสถานตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ นอกกำแพงเมือง (ปัจจุบันด้านตะวันตกเฉียงใต้ไม่ห่างจากโบราณสถานนัก มีวัดสร้างใหม่ มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา ใช้ชื่อว่าวัดศรีชุมเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ระบุจากกรมศิลปากรว่า วัดใหม่ไม่มีความเชื่อมโยงในประวัติศาสตร์ของวัดศรีชุมสมัยสุโขทัยแต่อย่างใด)

เชื่อกันว่า ชื่อ”ศรีชุม” มาจากคำพื้นเมืองล้านนาว่า “สะหลีชุม” สะหลี คือต้นโพธิ์ ศรีชุมซึ่งกร่อนในการเรียกขานภายหลัง จึงหมายถึงดงของต้นโพธิ์ แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่เข้าใจความหมายนี้แล้ว จึงเรียกสถานที่นั้นว่า ฤๅษีชุม

วัดศรีชุมสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ว่า “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยมีตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากกลาง มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก” สันนิษฐานกันว่า พระอจนะที่กล่าวถึงก็คือพระพุทธรูปกลางแจ้งเก่าแก่ที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่เอง

นาม พระอจนะ มาจากคำบาลีว่า อจละ แปลว่า ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง หรือผู้ควรแก่การเคารพกราบไหว้ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น แกนในก่ออิฐและศิลาแลง องค์พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่เต็มวิหาร ศิลปะแบบสุโขทัย หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร สูง 15 เมตร ประทับนั่งปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ พุทธลักษณะงดงามมาก พระวรกายอวบอิ่ม พระพักตร์แฝงด้วยรอยยิ้มและเมตตา

ตำนานว่า พระอจนะเป็นพระพุทธรูปพูดได้ เรื่องเล่านี้มาจากเหตุการณ์สมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพ ในปี พ.ศ. 2127 ทำให้หัวเมืองต่างๆ ยกเลิกการส่งส่วยให้กับพม่า แต่ยังมีเมืองเชลียง (สวรรคโลก) ที่ไม่ยอมทำตามพระราชโองการ พระองค์จึงนำทัพเสด็จมาปราบ โดยชุมนุมทัพที่วัดศรีชุม

ด้วยการรบครั้งนั้นเป็นการรบระหว่างไทยด้วยกัน ทำให้เหล่าทหารไม่มีกำลังใจ ไม่อยากรบ สมเด็จพระนเรศวร จึงให้ทหารคนหนึ่งปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระ พูดสร้างขวัญกำลังใจ จนเหล่าทหารหาญฮึกเหิมพร้อมรบ

นับแต่นั้นก็ร่ำลือกันว่า พระอจนะวัดศรีชุมพูดได้ ทั้งสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงประกอบพิธีศรีสัจจะปานกาล (พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา) ณ วัดแห่งนี้ด้วย

เกี่ยวกับบันไดด้านหลังองค์พระ อยู่ในพระมณฑปที่ผนังด้านซ้ายเจาะเป็นทางทำบันไดในผนังขึ้นไปถึงหลังคา ตามฝาผนังอุโมงค์มีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด

ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี เพดานผนังมีแผ่นหินชนวนสลักภาพลายเส้นเป็นเรื่องในชาดกต่างๆ มีจำนวน 50 ภาพ เรียงประดับต่อเนื่องกัน ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นงานจิตรกรรมไทยที่เก่าแก่ที่สุด

หลักฐานระบุว่า วัดศรีชุมนี้บูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าลิไท และมีการดูแลบูรณะเรื่อยมา ก่อนจะถูกทิ้งร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2495 ได้มีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยยึดรูปแบบ

วิธีการและวัสดุแบบโบราณ พร้อมซ่อมแซมพระประธาน คือพระอจนะตามแบบอย่างพระพุทธรูปสำริด ศิลปะสุโขทัย โดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และ อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ วัดจึงอยู่ในสภาพที่เห็นในปัจจุบัน

โบราณสถานสำคัญของวัดศรีชุม คือพระมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 32 เมตร สูง 15 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่เต็มมณฑป

มณฑปที่คับแคบแบบนี้เรียกว่า “ปฏิมาฆระ” สร้างตามคติความเชื่อสมัยสุโขทัยที่ไม่ได้ใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา หากแต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการจำลอง “พระคันธกุฎี” คือกุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล

สันนิษฐานว่าในอดีตตัวมณฑปน่าจะมีหลังคาคล้ายโดม ตัวมณฑปตั้งอยู่บนฐานสูง ด้านหน้าเปิดเป็นช่อง มองเห็นพระพักตร์งดงามของพระพุทธรูปองค์ใหญ่เต็มมณฑป นามว่า “พระอจนะ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน