เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยชอบรับประทานถั่วฝักยาว ที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ทำให้ถั่วฝักยาวกลายเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
ถั่วฝักยาวสามารถปลูกได้ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย โดยปกติราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท แต่อาจถีบตัวสูงขึ้นสูงถึงราคากิโลกรัมละ 70-90 บาทในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตถั่วฝักยาวลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการผลิตฝักสดเพื่อการส่งออกด้วย
ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้มีการพัฒนาพันธุ์ถั่วฝักยาวหลากหลายพันธุ์ มีทั้งถั่วฝักยาวสีเขียว ถั่วฝักยาวสีม่วง และถั่วฝักยาวสีเขียวปนม่วง มาตลอด
โดยเฉพาะถั่วฝักยาวสีม่วง จุดเด่นคือมีสารแอนโทไซยานิน ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดการเสื่อมโทรมของเซลล์ร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ที่รักและใส่ใจในสุขภาพ
แต่ถึงกระนั้น กลับพบว่าพันธุ์ถั่วฝักยาวสีม่วง ยังไม่เป็นที่นิยมของตลาดและผู้บริโภคมากเท่าที่ควร เนื่องจากพันธุ์ที่มีส่วนใหญ่ความหนาเนื้อน้อย ออกดอกช้า อายุการเก็บเกี่ยวฝักแรกค่อนข้างใช้ระยะเวลานาน
ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ถั่วฝักยาวสีม่วงให้มีคุณภาพดี ผลผลิตสูง มีความหนาเนื้อมากขึ้น อายุเก็บเกี่ยวเร็วขึ้น และช่วยลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและเกษตรกร และยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าถั่วฝักยาวให้มากขึ้นด้วย
นายอภิรักษ์ วงค์คำจันทร์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า ในปี 2560 ทางกรมได้เริ่มวิจัยปรับปรุงพันธุ์ถั่วฝักยาวเพื่อสร้างพันธุ์ถั่วฝักยาวสีม่วงพันธุ์ใหม่ ที่เหมาะสำหรับการบริโภคสด มีความกรอบ รสชาติดี ผลผลิตสูง อายุเก็บเกี่ยวเร็ว และมีความหนาเนื้อสูง
จนได้ถั่วฝักยาวสีม่วงสายต้น พจ.21-9-24-22 ซึ่งเป็นสายต้นดีที่คัดเลือกจากลูกผสมถั่วฝักยาวระหว่างพันธุ์ น่าน 1 (สายพันธุ์แม่) มีฝักสดสีม่วงแดง ฝักยาว ผิวฝักเรียบ เมล็ดสีน้ำตาลแดง อายุออกดอกและอายุเก็บผลผลิตฝักแรกค่อนข้างเร็ว ผลผลิตสูง แต่มีความหนาเนื้อและความหนาฝักน้อย
ผสมกับถั่วฝักยาวสายพันธุ์ YB15 (สายพันธุ์พ่อ) มีฝักสดสีเขียว ผลผลิตสูง ความหนาเนื้อและความหนาฝักสูง อายุออกดอกและอายุการเก็บเกี่ยวฝักแรกเร็ว
จากนั้นในปี 2563 ได้ปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ถั่วฝักยาวสีม่วงที่ผ่านการคัดเลือก โดยใช้พันธุ์น่าน 1 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ดำเนินการในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรร้อยเอ็ด
ในปี 2564 ปลูกทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตรกร โดยใช้พันธุ์ น่าน 1 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ดำเนินการที่จังหวัดพิจิตร 2 ฤดูปลูก จังหวัดพิษณุโลก 1 ฤดูปลูก และจังหวัดกำแพงเพชร 1 ฤดูปลูก รวมทั้งสิ้น 4 ฤดูปลูก
พบว่า ถั่วฝักยาวสีม่วงสายต้น พจ.21-9-24-22 ให้ผลผลิตสูงในทุกฤดูปลูก ฝักสดสีม่วงเข้มตลอดทั้งฝัก การเจริญเติบโตทางด้านลำต้นดีขึ้นค้างได้เร็ว คุณภาพการบริโภคดี
จึงเสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร พิจารณาถั่วฝักยาวสีม่วงสายต้น พจ.21-9-24-22 เป็นพันธุ์แนะนำโดยใช้ชื่อพันธุ์ว่า “ถั่วฝักยาวสีม่วงพันธุ์ กวก.พิจิตร 1”
ลักษณะเด่น “ถั่วฝักยาวสีม่วงพันธุ์ กวก.พิจิตร 1” ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,942 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์น่าน 1 ร้อยละ 46.27 อายุเก็บเกี่ยวฝักแรก 44 วันหลังปลูก เร็วกว่าพันธุ์น่าน 1 จำนวน 5 วัน
สีฝักสดม่วงเข้มกว่าพันธุ์น่าน 1 มีปริมาณสารแอนโทไซยานินเฉลี่ย 187.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักสด สูงกว่าพันธุ์น่าน 1 ที่มีปริมาณสารแอนโทไซยานิน 115.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
น้ำหนักสด ความหนาเนื้อเฉลี่ย 2.05 มิลลิเมตร มากกว่าพันธุ์น่าน 1 ที่มีความหนาเนื้อเฉลี่ย 1.53 มิลลิเมตร ลักษณะฝักตรง ผิวฝักย่น มีความยาวฝักสดเฉลี่ย 44.88 เซนติเมตร และมีความยาวฝักสูงสุด 49.46 เซนติเมตร เหมาะสำหรับการรับประทานฝักสดเพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการสูงสุด
“ถั่วฝักยาวสีม่วงพันธุ์ กวก.พิจิตร 1 ปลูกในช่วงเดือนพ.ย.-ก.พ. จะให้ผลผลิตดีที่สุด ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร มีเมล็ดพันธุ์คัด 3 กิโลกรัม เมล็ดพันธุ์หลัก 5 กิโลกรัม และมีแผนที่จะขยายเมล็ดพันธุ์ชั้นขยายจำนวน 50 กิโลกรัม
รวมทั้งในเดือนพ.ย.2567 – ก.พ.2568 วางแผนที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นขยายจำหน่ายจำนวน 150 กิโลกรัม เพื่อเตรียมความพร้อมในการขอรับพันธุ์จากเกษตรกรและผู้ที่สนใจ” นายอภิรักษ์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โทร.0-5699-0035