การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agricultural Practices (GAP) เป็นแนวทางในการผลิตพืชที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีคุณภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้สนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรที่ปฏิบัติตามแนวทาง GAP โดยทุกปีสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขตของกรมวิชาการเกษตร จะคัดเลือกเกษตรกรที่มีผลงานโดดเด่นในการปฏิบัติการเกษตรตามแนวทาง GAP เพื่อมอบรางวัลยกย่องและเชิดชูเกษตรกรที่ปฏิบัติการเกษตรตามแนวทางดังกล่าว
ในปี 2567 นายสวัสดิ์ วัฒนชัย เกษตรกรเจ้าของ “สวนคุณช้าง” ผู้ผลิตมะม่วงส่งออก เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับรางวัลเกษตรกร GAP ดีเด่นระดับเขตของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่
สวนคุณช้าง มีที่ตั้งแปลงอยู่ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกมะม่วงจำนวนทั้งสิ้น 254 ไร่ ปลูกพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองจำนวน 10,000 ต้น พันธุ์มหาชนก จำนวน 10,000 ต้น ได้รับการรับรอง GAP ครั้งแรกในปี 2553 และมีการต่ออายุการรับรองแปลง GAP เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เป็นเกษตรกรกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มการผลิตมะม่วงคุณภาพส่งออกไปต่างประเทศ โดยทำสัญญากับบริษัทส่งออกเพื่อส่งผลผลิตจำหน่ายไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นหลัก
สภาพพื้นที่สวนคุณช้าง มีลักษณะดินเดิมเป็นดินทราย แต่ได้รับการปรับปรุงดินอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใส่หินร็อกฟอสเฟต ปุ๋ยคอก กระดูกป่น รวมไปถึงใช้กิ่งมะม่วงที่ผ่านการบดย่อยหลังตัดแต่งกิ่ง เพื่อปรับโครงสร้างดิน
จากการทดลองของเกษตรกร พบว่า ระยะปลูกมะม่วง 6 x 2 เมตร หรือ 1 ไร่ ปลูกได้ 133 ต้น เป็นระยะเหมาะสมที่สุดในการจัดการสวนมะม่วง
สามารถนำเครื่องจักรกลเกษตร เช่น แอร์บลาสต์ แทรกเตอร์ รถตัดหญ้า รถบดกิ่งมะม่วง เข้ามาทำงานได้สะดวก ช่วยประหยัดเวลา และลดแรงงานในการฉีดพ่นสารเคมี ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้น
สวนคุณช้างเน้นสร้างความแข็งแรงสมบูรณ์ให้ต้นมะม่วงตั้งแต่หลังเก็บเกี่ยว มีเทคนิคการสร้างความสมบูรณ์ต้นมะม่วงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ต้นมะม่วงทยอยสะสมอาหารตลอดระยะการผลิต โดยใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น ก่อนตัดแต่งกิ่ง
หากต้นมะม่วงสะสมอาหารเพียงพอ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารกระตุ้นการออกดอก
การตัดแต่งกิ่งเป็นทรงพุ่มโปร่ง เพื่อให้มะม่วงมีความพร้อมต่อการออกดอก ติดผลในฤดูถัดไป ทั้งยังช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ส่วนกิ่งและใบที่เหลือจากการตัดแต่งจะนำมาบดย่อยเพื่อทำปุ๋ยหมักบำรุงต้น
นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคนิคการล้างต้น โดยใช้สารเคมีแลมป์ดาไซฮาโลทรินฉีดพ่นลำต้นหลังตัดแต่ง ช่วยลดความรุนแรงจากปัญหาด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง
ในช่วงติดผลอ่อนจะคัดผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง และเมื่อผลมะม่วงมีขนาดโตเท่าไข่ไก่จะห่อด้วยกระดาษคาร์บอน ป้องกันการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ พร้อมทั้งบำรุงให้ต้นมะม่วงมีความสมบูรณ์อยู่เสมอ
โดยใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต มีการบำรุงโดยใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของผล และสร้างเนื้อของผล ช่วยให้คุณภาพและรสชาติหวานขึ้น
อธิบดีรพีภัทร์ กล่าวว่า สวนคุณช้างเป็นพื้นที่ผลิตมะม่วงขนาดใหญ่ในเขตภาคเหนือ มีการจัดการสวนที่โดดเด่น เน้นทำการเกษตรแบบ Zero Waste เลือกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเท่าที่จำเป็น ปฏิบัติตามข้อบังคับของคู่ค้าอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้สารเคมีต้องห้ามตามที่ประเทศคู่ค้ากำหนด
ทำให้ผลผลิตในแปลงมีคุณภาพ มีความปลอดภัย ทำให้มีผู้ประกอบการส่งออกมะม่วงเข้ามาติดต่อซื้อขายผลผลิตหลายราย แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้บางประเทศต้องระงับการส่งออก หรือเพิ่มมาตรการป้องเชื้อโควิด ไม่ให้ติดปนไปกับผลผลิตอย่างเข้มงวด
แต่มะม่วงจาก “สวนคุณช้าง” แห่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ยังสามารถเป็นหนึ่งในสวนผลไม้ส่งออกที่สามารถครองตลาดส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นได้
สำหรับในปี 2566 นายสวัสดิ์ เจ้าของสวนมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต จำนวน 3,141,100 บาท หักต้นทุนการผลิตแล้วมีกำไรรวม 1,280,000 บาท
ที่สำคัญกรมวิชาการเกษตรยังเลือกให้สวนคุณช้างเป็นตัวแทนสวนมะม่วงไทย ในการนำคณะผู้ตรวจจากประเทศออสเตรเลียเข้ามาตรวจสอบระบบการผลิตภายในแปลง เพื่อพิจารณาตัดสินใจนำเข้ามะม่วงจากประเทศไทยด้วย