เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโหมกระหน่ำตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน จากโรคระบาดลัมปีสกิน จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ถีบตัวสูงขึ้น และจากภาวะโลกเดือด
ส่งผลให้คุณภาพน้ำนมลดลง ขณะเดียวกันปริมาณน้ำนมดิบของโคจากฟาร์มทั่วประเทศลดลงเหลือ 17.7 ก.ก.ต่อตัวต่อวัน หรือ 2,800-3,000 ตันต่อวัน ขณะที่ความต้องการในตลาด โดยเฉพาะนมพร้อมดื่มสูงขึ้น โดยปีนี้เติบโตสูงกว่าปีก่อนถึง 7%
“เนสท์เล่” เห็นถึงปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงร่วมมือกับเกษตรกรในการส่งเสริมการทำฟาร์มโคนมตามแนวทางความยั่งยืน
โดยนำโมเดลฟาร์มโคนมต้นแบบความยั่งยืน ขับเคลื่อน “การเกษตรเชิงฟื้นฟู” หรือ Regenerative Agriculture เพื่อบริหารจัดการฟาร์มโคนมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณน้ำนมดิบ
ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
น.ส.สลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า น้ำนมดิบถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของเนสท์เล่ ในการนำมาผลิตผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่างๆ ที่เป็นที่รู้จัก เช่น ไมโล ตราหมี และเนสกาแฟ
เราจึงให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำนมดิบที่ต้องมีคุณภาพดี และมีแหล่งผลิตที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Sourcing เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“เนสท์เล่ดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มโคนม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเหลือศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 ซึ่งน้ำนมดิบที่เนสท์เล่ใช้ผ่านมาตรฐานด้านการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนครบ 100% แล้ว”
ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมฟาร์มโคนมเป็นแหล่งของการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลต่อโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 26 เท่า เนสท์เล่จึงทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยมานานกว่า 40 ปี โดยส่งเสริมหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู ที่มุ่งเน้นการปกป้อง ทดแทน และฟื้นฟู
คือ การปกป้องและฟื้นฟูดินที่เป็นแหล่งปลูกอาหารวัวให้มีความสมบูรณ์ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีด้วยการใช้มูลวัวตากแห้งเป็นปุ๋ยอินทรีย์
รวมทั้งใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในแปลงปลูกและทรัพยากรธรรมชาติ
ด้าน นายศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ นักวิชาการเกษตรของเนสท์เล่ (ไทย) กล่าวว่า เนสท์เล่เป็นเจ้าแรกที่นำการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาปรับใช้กับฟาร์มโคนม โดยการเกษตรเชิงฟื้นฟู มุ่งเน้น 3 ด้านสำคัญในการบริหารจัดการฟาร์มโคนมอย่างครบวงจร คือ
1.การพัฒนาการจัดการอาหารและโภชนะ 2.การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน
“เราแนะนำให้เกษตรกรทำแปลงหญ้าผสมถั่วหลากหลายชนิดเพื่อเป็นแปลงหญ้าอาหาร และเป็นการเสริมสารอาหารประเภทโปรตีนให้กับแม่โค ส่งผลให้ปัจจุบันเราได้ปริมาณน้ำนมดิบโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 ก.ก.ต่อตัวต่อวัน มากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 11.7 ก.ก.ต่อตัวต่อวัน นอกจากนี้ คุณค่าโภชนาการในน้ำนมดิบก็ดีขึ้น วัดได้จากระดับโปรตีนในนมที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.02% จากระดับ 2.94% ในปี 2566” นายศิรวัจน์กล่าวเสริม
ขณะเดียวกันเนสท์เล่ยังส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการมูลโคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำไปตากแห้ง นำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงหญ้าอาหารสัตว์ บางส่วนแบ่งไปจำหน่ายในรูปของปุ๋ยคอก สร้างแหล่งรายได้ให้เกษตรกร เปลี่ยนจากมูลโคสู่มูลค่าสร้างรายได้อีกกว่า 40,000 บาทต่อปี
พร้อมกันนี้ เนสท์เล่ยังสนับสนุนการติดตั้งบ่อไบโอแก๊ส เพื่อนำมูลโคมาหมักในบ่อและนำก๊าซมีเทนไปใช้ประโยชน์เป็นก๊าซหุงต้มในครัวเรือน และที่สำคัญยังช่วยลดคาร์บอนจากมูลสัตว์
นอกจากนี้ เนสท์เล่ได้ส่งเสริมเกษตรกรติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์สำหรับสูบน้ำบาดาลมาใช้ในแปลงหญ้า เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ตลอดปี และช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน
โดยการทำฟาร์มโคนมตามหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูทั้งหมดที่กล่าวมา สามารถช่วยลดคาร์บอนได้รวมประมาณ 2,000 ตัน ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2561
ขณะที่ นายวรวัฒน์ เวียงแก้ว ตัวแทนเกษตรกรโคนม อำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา เล่าถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำฟาร์มโคนม ว่า มีทั้งด้านสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้าที่ยังเข้าไม่ถึงในพื้นที่
หรือการที่วัวมีผลผลิตน้ำนมลดลงอย่างต่อเนื่อง น้ำนมดิบมีคุณภาพต่ำลง รวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์ชนิดข้นที่แพงขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้จำนวนเกษตรกรฟาร์มโคนมมีจำนวนลดน้อยลง
“ผมเริ่มทำฟาร์มโคนมในปี 2561 และได้ร่วมงานกับเนสท์เล่ ในช่วงปี 2564 จากการเป็นสมาชิกเกษตรกรโคนมพิมาย ทางเนสท์เล่ได้ลงพื้นที่มาพูดคุยถึงปัญหาในการทำฟาร์ม ช่วยหาวิธีในการเพิ่มผลผลิต รวมทั้งแนะนำหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาประยุกต์ใช้
จึงได้เริ่มเป็นฟาร์มโคนมนำร่อง มีการทำแปลงหญ้ารูซี่ หญ้าไนล์ และปลูกพืชถั่วร่วมด้วย ทำบ่อไบโอแก๊ส ตากมูลวัว ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ตอนนี้จึงเป็นฟาร์มที่ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 100% และสามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้กับแปลงหญ้าได้ตลอดปี รวมทั้งนำมูลโคตากแห้งไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย”
ปัจจุบันคุณวรวัฒน์เป็นเจ้าของฟาร์มที่ดูแลโคนมอยู่ 40 ตัว ผลิตน้ำนมได้ 13.5 ก.ก.ต่อตัวต่อวัน โดยตั้งเป้าหมายจะไปให้ได้ถึง 15-17 ก.ก.ต่อตัวต่อวันในอนาคตอันใกล้
จนถึงตอนนี้ เนสท์เล่ได้ให้ความรู้และเทคนิคการเกษตรเชิงฟื้นฟูแก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 160 ฟาร์มจาก 3 สหกรณ์ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เริ่มทำการเกษตรเชิงฟื้นฟูครบวงจรแล้วกว่า 40 ฟาร์ม นอกจากนี้เนสท์เล่ยังรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผ่านสหกรณ์โคนมในราคาที่เป็นธรรม
พร้อมเป้าหมายนำฟาร์มโคนมไทย เดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero