ขานรับยุทธศาสตร์ผู้นำแหล่งผลิต และตลาดผลไม้เมืองร้อนที่มีคุณภาพของรัฐบาล ภายใน 3 ปี เชื่อมโยงกับซอฟต์พาวเวอร์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีนโยบายพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยเกษตรกรไทยมีศักยภาพและมีการเพาะปลูกในทุกภูมิภาค อย่าง ‘โกโก้’ ที่สามารถสร้างมูลค่าตั้งแต่ผลสด เมล็ดแห้ง และการแปรรูปเป็นสินค้าสร้างสรรค์ และได้รับความนิยมในไทยซึ่งเป็นแรงจูงใจให้เกิดโมเดลธุรกิจคาเฟ่ ท่องเที่ยว ทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชนมากขึ้น
เห็นได้จากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมีผลผลิตโกโก้รวมทั้งหมด 1,016.78 ตัน พบการตื่นตัวของผู้ประกอบการที่เริ่มหันมาสนใจนำทุกส่วนจากโกโก้ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงหลายรูปแบบ เช่น เครื่องสำอาง น้ำสกัดโกโก้ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พาลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จของ ‘โกโก้วัลเล่ย์’ ต้นแบบธุรกิจโกโก้ครบวงจร ตั้งแต่การปลูก แปรรูป การสร้างแบรนด์ และแหล่งท่องเที่ยว ที่ อ.ปัว จ.น่าน ตั้งเป้าหมายก้าวสู่การเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตอกย้ำการเป็นแบรนด์ของท้องถิ่น
ดังเช่นที่ไทยเคยประสบความสำเร็จกับอุตสาหกรรมกาแฟมาแล้ว จึงเห็นโอกาสเพิ่มมูลค่าของโกโก้ในรูปแบบของสินค้าและบริการ ด้วยความโดดเด่นในเชิงคุณภาพ อัตลักษณ์ทางรสชาติ หลีกเลี่ยงการแข่งขันในเชิงปริมาณ
ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมโกโก้ในอาเซียน ตามนโยบายของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ที่มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม
พัฒนาผู้ประกอบการโกโก้เชิงรุก ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า วางแผนการส่งเสริมโกโก้ในระยะ 3 ปี (2567-2569) ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผลผลิตภาคเหนือเพิ่มขึ้น 240 ตัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น 57 ตัน
ภาคใต้เพิ่มขึ้น 113 ตัน ภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น 682 ตัน และภาคกลางเพิ่มขึ้น 5 ตัน คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท
นอกเหนือจากเกษตรอุตสาหกรรม ‘โกโก้’ ยังมีความสำคัญในมิติซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร ที่สามารถพัฒนาได้ทั้งสินค้าสร้างสรรค์ รูปแบบอาหารใหม่ๆ และสามารถทำให้ไทยในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมมีส่วนแบ่งมูลค่าจากตลาดโกโก้ และอาหารมากขึ้น
การเชื่อมโยงกับงานเทศกาล (Festival) เช่น การร่วมกันจัด Asian Chocolate Festival ตอกย้ำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายโกโก้ที่สำคัญของโลก พร้อมสร้างเครือข่ายอย่างน้อย 33 ประเทศ สร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ธุรกิจคาเฟ่ สปา ของฝากและสินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ รวมถึงการบูรณาการกับสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย สร้างตรารับรองโกโก้
ดีพร้อม กำหนดให้ จ.น่าน เป็นพื้นที่ต้นแบบการปลูกโกโก้ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “น่านโมเดล” สร้างความนิยมการปลูกพันธุ์โกโก้ สายพันธุ์น่าน 133 ที่เป็นสินค้า GI โดยการเพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูก และจำนวนผู้ประกอบการ
สร้างต้นแบบธุรกิจส่งต่อความรู้ให้กับเกษตรกรรายอื่น สร้างรายได้ให้ชุมชนโดยรอบ เช่น กลุ่มขายผลสดโกโก้ กลุ่มชนเผ่า กลุ่มย้อมผ้า
ที่สำคัญยังพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกโกโก้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และสปา เป็นต้น และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ได้สอดรับกับความต้องการตลาด เช่น เครื่องสำอาง เครื่องดื่มสำเร็จรูป คราฟต์ช็อกโกแลต
นายมนูญ ทนะวัง ผู้ก่อตั้ง Cocoa Valley Resort เล่าว่า โกโก้ที่ปลูกใน จ.น่าน ส่วนใหญ่เป็นโกโก้ สายพันธุ์ ‘น่าน 133’ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย พัฒนาขึ้นโดยโกโก้วัลเล่ย์ จากการทดลองปลูกบนพื้นที่กว่า 10 ไร่ แบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี
และให้ความสำคัญกับความสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งการมีดินที่สมบูรณ์และภูมิอากาศที่เหมาะสม ช่วยเสริมให้ต้นโกโก้ที่มีคุณภาพสามารถออกผลผลิตได้จำนวนมาก มีเอกลักษณ์ด้วยผลเรียวยาวสีชมพู กลิ่นหอม รสชาติเข้มข้นกว่าโกโก้สายพันธุ์อื่น และมีเมล็ดจำนวนมากประมาณ 50-60 เมล็ดต่อผล
พร้อมส่งต่อองค์ความรู้การปลูกโกโก้ไปยังเครือข่ายกว่า 400 ครอบครัว ในจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ พะเยา ลำปาง พิษณุโลก ระยอง และชลบุรี ช่วยให้เกษตรกรท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการขายผลสดโกโก้สายพันธุ์น่าน 133 กิโลกรัมละ 20 บาท ต่างจากเดิมที่เคยได้เพียงกิโลกรัมละ 8-10 บาท
นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การหมัก ตาก จนถึงการแปรรูป เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์โกโก้ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์พรีเมียม เช่น ช็อกโกแลตแท่ง ผงโกโก้ และเครื่องดื่มโกโก้ ตอบโจทย์กลุ่มตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ด้านความงามและสุขภาพ อาทิ สครับโกโก้ สบู่ ลิปบาล์ม และบอดี้โลชั่น พร้อมเชื่อมโยงสู่โมเดิร์นเทรด อาทิ ห้างสรรพสินค้าโตคิว Tops The Mall และกำลังจะขยายตลาดสู่ประเทศญี่ปุ่น
กว่า 8 เดือน จากดอกสู่ผลสุก จากผลสุกสู่เมล็ดแห้ง และจากเมล็ดแห้งสู่ช็อกโกแลตบริสุทธิ์ ใช้โกโก้ที่มีส่วนผสมของไขมันโกโก้ 100% ซึ่งเป็นไขมันดีที่สุดและแพงที่สุดของไขมันพืช แปรรูปเป็นช็อกโกแลตบริสุทธิ์เป็นส่วนผสมหลักในเครื่องดื่มและเบเกอรี่บริการในร้าน Cocoa Valley Cafe ทุกเมนู
นับเป็นต้นแบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ และเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ