สถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน บางแห่งเด็กๆ มีกิจกรรมอาสาเข้ามาทำหน้าที่มัคคุเทศก์น้อยนำชมพาเที่ยว เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
ไม่เพียงแต่ความรู้ที่ได้รับ ลึกลงไปกว่านั้นยังชวนให้เด็กๆ รู้จักประวัติศาสตร์ ประเพณี วิถีความเป็นอยู่ และรับรู้ว่าในชุมชนตนเองมีสิ่งที่น่าสนใจ เชื่อมโยงมองเห็นคุณค่าของสิ่งดีๆ ใกล้ตัว

สุ่มปลายักษ์
ในปี 2559 คนตำบลต้นตาล อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ช่วยกันตัดไม้ไผ่นับหมื่นลำ สร้างสุ่มปลาขนาดใหญ่ยักษ์ ต่อเป็นชั้นๆ สูงกว่า 20 เมตร ด้วยภูมิปัญญาการขันชะเนาะ ตั้งตระหง่านริมลำคลองสองพี่น้อง พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยแลนด์มาร์กสุ่มปลา และร้านรวงละลานตา รวมข้าวของท้องถิ่นไว้ใน “ตลาดน้ำสะพานโค้ง”

ล่องเรือเที่ยว
“ตลาดบ้านเรามีของกินเยอะค่ะ แต่ละร้านจะเน้นวัตถุดิบในชุมชน มีปลาเยอะ ผักบุ้ง ผักกระเฉด ผลไม้หลายอย่างก็ปลูกกันเอง เมนูจากบัวมีหลายอย่างเลย ทั้งของคาวของหวาน ที่สำคัญคือราคาย่อมเยา แม่ค้าพ่อค้าก็ใจดีค่ะ” ด.ญ.อินทิรา บูชา หรือ น้องอิน มัคคุเทศก์น้อยนำเสนอจุดเด่นของตลาดที่คุ้นเคยได้อย่างคล่องแคล่ว ชัดเจน และน่าฟัง

น้องอิน
ขนมสายบัว ห่อหมกปลาช่อนนา ปลาหมำ เมี่ยงดอกบัว… เด็กๆ ช่วยกันไล่เรียงรายชื่อของกินของฝากที่ไม่อยากให้พลาดเมื่อมาเยือน นอกจากเป็นแหล่งของอร่อย ตลาดน้ำสะพานโค้ง ยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กนักเรียน โรงเรียนวัดทองประดิษฐ์ มีหลักสูตรท้องถิ่น เชิญชวนเด็กๆ เรียนรู้ชุมชนผ่านการเป็นมัคคุเทศก์น้อยพาเที่ยวพาชมตลาด เชื่อมโยงวิถีการกินการอยู่

ไข่มุก
พรนภา เล้าพะยอม เด็กหญิงไข่มุก หนึ่งในสมาชิกมัคคุเทศก์น้อยบอกว่า “มาตลาดน้ำสะพานโค้งได้เที่ยวหลายอย่างค่ะ มีของขายของกินที่นั่งพักผ่อนริมน้ำ ใครอยากนั่งเรือเที่ยวก็มีบริการนะคะ ที่ห้ามพลาดเลยก็คือสุ่มปลายักษ์ เดินเมื่อยหน่อย แต่ข้างบนวิวสวยค่ะ ชมสะพานโค้ง 100 ปี ข้ามไปไหว้พระวัดทองประดิษฐ์ได้ด้วยค่ะ”

สะพานโค้ง 100 ปี
ตลาดน้ำสะพานโค้ง ตั้งอยู่เยื้องกับวัดทองประดิษฐ์ มีสะพานโค้งเชื่อมถึงกัน สะพานโค้งเป็นสะพานไม้เก่าแก่ที่ชาวบ้านใช้สัญจร มีอายุมากกว่า 100 ปี ทอดยาวข้ามคลองสองพี่น้อง เชื่อมตำบลต้นตาล กับตำบลบางเลนเข้าไว้ด้วยกัน
ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ชาวบ้านจะนำผักสด ผลไม้ งานฝีมือ ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อรวมทั้งอาหารคาวหวานที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นมาจำหน่าย ตลาดจะคึกคักช่วงสายๆ ราว 8-9 โมง ไปจนถึงบ่ายๆ ก็เริ่มวาย

เที่ยวตลาด
เมื่อตลาดมีชีวิต เศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ ก็เสมือนได้เติมเต็มความสุขให้คนในชุมชน เด็กๆ เองก็ภูมิใจกับการฝึกฝนเป็นเจ้าบ้านเพื่อต้อนรับ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นักท่องเที่ยวในฐานะมัคคุเทศก์น้อย

การ์ด
ด.ช.การ์ด ณัฐพงษ์ หิรัญรัตน์ เล่าว่า “ชอบเวลาได้เล่าเรื่องให้คนอื่นฟังครับ ช่วงแรกๆ มันอาจจะยากหน่อย ต้องฝึกการพูด ต้องจำ และทำความเข้าใจ”
“ได้ประสบการณ์เยอะมากค่ะ แล้วก็รู้สึกว่ากล้าพูด พูดเก่งขึ้น บางเรื่องเราไม่รู้ ไม่แน่ใจก็มาถามผู้ใหญ่ เขาก็สอนบอกเรา เขาก็ชื่นชมที่เรามาเป็นมัคคุเทศก์น้อยค่ะ” น้องอินช่วยเล่าเสริม

เรียนรู้ห่อหมก

ห่อหมกปลาช่อนนา
ชุมชน ท้องถิ่น ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็กๆ ในทุกยุคทุกสมัย มัคคุเทศก์น้อย สอนให้รู้จักชุมชน ภูมิใจในท้องถิ่นบ้านเกิด ได้ฝึกฝน เรียนรู้ ค้นพบศักยภาพของตัวเอง และสามารถต่อยอดไปได้อีกหลายเรื่องในอนาคต

ห่อด้วยใบบัว ฝีมือเด็กๆ

ขนมสายบัว

เด็กๆ มัคคุเทศก์น้อย
ชวนไปเที่ยวตลาดน้ำสะพานโค้ง ทำห่อหมกปลาช่อนนา ชิมขนมสายบัว กับเด็กๆ มัคคุเทศก์น้อยในรายการทุ่งแสงตะวัน เช้าวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 และเวลา 07.30 น. ทางเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน และยูทูบ payaiTV
กนกวรรณ อำไพ