กลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ สำหรับงานประกาศรางวัล “มติชนอวอร์ด ประจำปี 2567” งานประกาศรางวัลเกียรติยศสำหรับนักคิดนักเขียน
ปีนี้ได้จัดประกวดในหัวข้อ เรื่องสั้น, กวีนิพนธ์ และยังได้เพิ่มหัวข้อการ์ตูนสะท้อนสังคม-การเมือง เข้ามาเป็นมิติที่ 3 โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 894 ผลงาน ก่อนได้รับการคัดเลือกเหลือ 24 ผลงาน จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมากประสบการณ์และชื่อเสียงแต่ละวงการ
ประกอบด้วย นายกล้า สมุทวณิช, นายนฤพนธ์ สุดสวาท, นายนิวัติ พุทธประสาท เป็นกรรมการตัดสินเรื่องสั้น ผศ.ดร.ญาดา อารัมภีร, นายสุพจน์ แจ้งเร็ว และ นายอารักษ์ คคะนาท หรือ ‘ละไมมาด คำฉวี’ กรรมการตัดสินกวีนิพนธ์ นายอรุณ วัชระสวัสดิ์, นายประกิต กอบกิจวัฒนา และ นายขุนพล พรหมแพทย์ กรรมการตัดสินการ์ตูนสะท้อนสังคม
ทั้งนี้ เครือมติชนจัดงานประกาศรางวัล “มติชนอวอร์ด ประจำปี 2567” ขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่อาคารมติชน โดยมีแขกผู้มีเกียรติจากหลากหลายวงการเข้าร่วมงาน อาทิ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน, นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และอีกมากมาย
โดยมี นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), น.ส.ปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมต้อนรับ
จากนั้นได้มีการประกาศรางวัล “การ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง” รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “The Mitt” รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “ธ.” รับมอบประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “Pai-toon” รับมอบประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท
ภาพผลงาน Animal Farm จาก “The Mitt” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การ์ตูนสะท้อนสังคม-การเมือง มีจุดเด่นเป็นภาพตัวเอกที่ดูคล้ายกับโจ๊กเกอร์ กำลังเริงร่าที่กลางภาพรายล้อมกับองค์ประกอบรอบๆ ที่เป็นภาพคน สุนัข รถถัง
สื่อโดยตรงถึงสภาพการเมืองไทยในปัจจุบันที่อาจจะให้ความรู้สึกเย้ยหยัน ทิ่มแทงการเมืองไทยได้อย่างเจ็บแสบ ทำให้คว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้

‘The Mitt’ รับรางวัล

Animal Farm จาก ‘The Mitt’
“The Mitt” เจ้าของผลงาน กล่าวว่า “Animal Farm” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักการเมือง ว่าหากนักการเมืองยังทำพฤติกรรมเดิมๆ เล่นซิกแซ็ก นอกเกม จะมีคนอีกฝั่งหนึ่งที่รอเล่นคุณคืนเช่นกัน ประเทศเราติดหล่มอยู่ในเรื่องนี้ซ้ำซาก
ตนเขียนคำว่า “Animal Farm” ให้สุนัขตัวหนึ่งพูดเปรียบเหมือนการเย้ยหยันมนุษย์ว่าพวกคุณก็แค่นี้แหละ เดิมๆ ทั้งๆ ที่คุณก็รู้อยู่แล้วว่าผลจะเป็นอย่างไร แรงบันดาลใจมาจากนักการเมืองท่านหนึ่งที่พยายามจะทำอะไรเหนือชั้นจากที่คนอื่นทำกัน
“ดีใจที่ได้รับรางวัล ขอบคุณมติชน เช่นที่คุณอรุณ วัชระสวัสดิ์ พูดเอาไว้ นักเขียนการ์ตูนหรือวรรณกรรมไทยแทบจะสูญพันธุ์ สำนักพิมพ์ต่างๆ ล้มหายตายจากไป แผงหนังสือแทบไม่มีเหลือ เมื่อไม่มีคนซื้อผลงานนักเขียนก็อยู่ไม่ได้ การมีการประกวดเช่นนี้เป็นเรื่องดีที่ส่งเสริมให้นักเขียนได้มีเวทีประกวดเพื่อนำไปต่อยอดสิ่งต่างๆ ได้” The Mitt กล่าว

รางวัลชนะเลิศ ‘หมึกสีม่วง’ จากกวีนิพนธ์ ‘บอนไซ’
สำหรับกวีนิพนธ์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “หมึกสีม่วง” จากกวีนิพนธ์ “บอนไซ” รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “ภูมิ ภูคำ” จากผลงานกวีนิพนธ์ “หินแห่” รับประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “สุไฮมี” จากกวีนิพนธ์ “นาฏกรรมรอบกองเพลิง” รับประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท
“หมึกสีม่วง” เล่าถึงกวีนิพนธ์ “บอนไซ” ว่า บอนไซเป็นต้นไม้แคระจากญี่ปุ่น เป็นต้นไม้ที่ถูกนำมาดัดแปลง ตัดแต่งมาปลูกในกระถาง ตนได้นำเอาบอนไซมาสื่อถึงการเมืองไทยที่ถูกจัดวาง ตัดต่อ ตัดแต่ง มาชื่นชมกันอยู่ในกระถาง ตนเป็นคนสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่แล้ว และรู้สึกว่าบอนไซสามารถเล่าถึงสภาพสังคมไทยได้ จึงนำมาเขียน
“การจัดงานมติชนอวอร์ดเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจ แต่สิ่งสำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้คนที่คิดแตกต่างหลากหลายได้มีพื้นที่ในการแสดงออกผ่านการเขียน” หมึกสีม่วงกล่าว
ส่วน “เรื่องสั้น” รางวัลชนะเลิศ แก่ “ประณต พลประสิทธิ์” จากผลงานเรื่องสั้น “บารายบุราณ” รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 70,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “ณพรรธน์” จากเรื่องสั้น “ปฏิทรรศน์จันทรา” รับประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 40,000 บาท และรางวั
ลรองชนะเลิศอันดับ 2 “ญาณทีโป” จากเรื่องสั้น “นั่งห้อยขาคร่ำครวญฯ” รับประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท

‘ประณต พลประสิทธิ์’ รางวัลชนะเลิศ เรื่องสั้น บารายบุราณ
ประณต พลประสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องบารายบุราณ เป็นความเชื่อพื้นถิ่นของบุรีรัมย์ บารายบุราณเป็นแหล่งน้ำที่ขุดไว้ใช้กับปราสาทขอม ตนนำมาผนวกกับความเชื่อปราสาทเมืองต่ำ มีความเชื่อว่าวันพระจะมีเสียงดังออกมาจากบาราย มีวิญญาณบรรพบุรุษอยู่ในบาราย
โดยนำมาผูกเรื่องกับแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล เรื่องสั้นเรื่องนี้ตนเขียนให้เพื่อนที่เสียชีวิตไปเนื่องจากอุบัติเหตุ เขาอยู่ในหมู่บ้านนี้ ซึ่งคนในหมู่บ้านนิยมไปทำงานเป็นผีน้อยอยู่ตามประเทศต่างๆ
“สิ่งที่ทำให้ได้รับรางวัลอาจจะเป็นเพราะเรื่องสั้นของผมมีรูปแบบที่มติชนชื่นชอบ เพราะผมคือคนที่อ่านมติชนตั้งแต่เด็ก สำหรับผมแล้วมติชนเหมือนสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ตอนเด็กๆ เมื่อพ่อกลับมาบ้านจะซื้อมติชนสุดสัปดาห์มาฝาก คนในบ้านจะเวียนกันอ่าน แต่ละคนจะมีคอลัมน์ที่ตัวเองชื่นชอบ ดีใจมากที่ได้รับรางวัล เคยได้รับรางวัลอะไรมาก็ไม่เท่าได้รับรางวัลจากมติชน เพราะเป็นสิ่งที่เราผูกพันมาตั้งแต่เด็กๆ” เจ้าของรางวัลเรื่องสั้นชนะเลิศกล่าว
นอกจากนี้ ยังเป็นปีแรกที่ทางเครือมติชนมีดำริจะมอบรางวัลมติชนเกียรติยศขึ้นแก่ศิลปิน นักคิด นักเขียน คอลัมนิสต์ นักหนังสือพิมพ์ ที่มีผลงานโดดเด่นและมีคุณูปการต่อวงการและเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานักอ่านมาต่อเนื่องยาวนาน
โดยคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลมติชนอวอร์ดมีฉันทามติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ มอบ “รางวัลมติชนเกียรติยศ” ในงานประกาศ “มติชนอวอร์ด ประจำปี 2567” โดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบรางวัลมติชนเกียรติยศแก่อรุณ วัชระสวัสดิ์
ด้วย อรุณ วัชระสวัสดิ์ เป็นสื่อมวลชนและศิลปินผู้ทรงคุณค่าแห่งวงการการ์ตูนประเทศไทย มีคุณูปการต่อวงการสื่อสารมวลชนและสังคมไทยอย่างสูงด้วยการใช้ศิลปะการวาดการ์ตูนสะท้อนความจริงทางสังคมและการเมืองผ่านงานศิลปะอันทรงพลัง สามารถสื่อสารประเด็นที่ซับซ้อนด้วยภาพการ์ตูนที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง ใช้อารมณ์ขันและการเสียดสีเป็นเครื่องมือในการสะท้อนสังคมได้อย่างแยบยล กล้าหาญ
ตลอดระยะเวลากว่าห้าทศวรรษ อรุณ วัชระสวัสดิ์ ยืนหยัดในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกด้วยการนำเสนอความจริงผ่านลายเส้นการ์ตูนที่ปราศจากอคติทางการเมือง ไม่เชิดชูหรือโจมตีฝ่ายใด แต่มุ่งสะท้อนความเป็นจริงของสังคมด้วยความรักและความห่วงใยต่อบ้านเมือง

อรุณ วัชระสวัสดิ์
อรุณ วัชระสวัสดิ์ เจ้าของรางวัลมติชนเกียรติยศกล่าวปิดท้ายว่า ขอบคุณมติชนสำหรับรางวัลนี้ ตนเองรู้สึกแปลกใจมากที่ได้รับรางวัล เพราะในความรู้สึกของตนเองคิดว่าทุกคนคิดว่าการ์ตูนมีแต่เรื่องตลกขบขัน ไร้สาระ
โดยไม่รู้ว่าเราก็มีสติปัญญา ความคิด ความรู้สึกต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ เพียงแต่เราสะท้อนความคิดออกมาเป็นภาพเท่านั้น ตนอยากบอกว่าพวกเราเป็นศิลปินเหมือนกัน เพียงแต่ทำงานคนละแขนงกับท่าน
ตลอดเวลาที่ทำการ์ตูนการเมืองมามันเหมือนน้ำจิ้มถ้วยหนึ่งบนโต๊ะอาหาร ซึ่งมีอาหารที่อร่อยและมีคุณภาพบนภัตตาคาร ยิ่งหนังสือพิมพ์มติชนแล้วนั้น สร้างสรรค์อาหารที่ปรุงโดยเชฟชั้นดี โดยงานวาดของผมเป็นเพียงน้ำจิ้มเพื่อปรุงรสอาหารเหล่านั้นให้มีรสชาติขึ้น
วันนี้จึงอดดีใจไม่ได้ที่เจ้าของภัตตาคารได้ขึ้นป้ายใหญ่ที่หน้าร้านว่า “ร้านนี้มีน้ำจิ้มอร่อย” ซึ่งต้องขอขอบคุณที่เห็นคุณค่าน้ำจิ้ม
น้ำจิ้มที่หมายถึงการ์ตูนการเมือง เพราะงานของเรานั้นสังคมไม่รู้ว่าจะจัดเราอยู่ในประเภทใด ทำให้ศิลปินวาดการ์ตูนถูกสังคมมองข้ามมาตลอดจนล้มหายตายจากไป จนทุกวันนี้เหลือนักวาดน้อย ใกล้จะสูญพันธุ์ แต่วันนี้ตนต้องขอขอบคุณแทนนักเขียนการ์ตูนทุกท่านที่ถูกเห็นถึงคุณค่า
ติดตามอ่านผลงานรางวัลมติชนอวอร์ด ประจำปี 2567 ทั้งหมดได้ที่ https://www.matichonweekly.com