สมัยนี้บางชุมชนบางครอบครัวมีความสุข ความสนใจ ความภูมิใจ และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย
จากตัวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เลี้ยวขวาบนเส้นทางเลียบชายแดนไทย เมียนมา ประมาณห้ากิโลเมตรก็ถึงหมู่บ้านป่าซางงาม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ฮักอาข่าโฮม
พี่นก นิรมล เมธีสุวกุล โปรดิวเซอร์รายการทุ่งแสงตะวัน บอกว่า “วันนี้ คุณแม่เจน เบญจพร นามติ๊บ ผู้ก่อตั้งศูนย์ไปออกบูธผลิตภัณฑ์ชนเผ่าที่เมืองทองธานี นนทบุรี อยากจะทราบว่าลำพังเด็กชายสามคนลูกแม่เจนซึ่งเรียนรู้อะไรหลายอย่างจากครอบครัว มีประสบการณ์ สังเกตการณ์ การจัดการท่องเที่ยวในชุมชน จะต้อนรับขับสู้และนำเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ได้หรือไม่” โดยตั้งชื่อทุ่งแสงตะวันตอนนี้เอาไว้แบบเชียร์เด็กน้อยว่า “แม่ไม่อยู่ หนูทำได้”
ขบวนเด็กสามคนพี่น้องรอต้อนรับ หยอกๆ ว่าไหนๆ ก็เรียนโรงเรียนนานาชาติวันโฮป แม่สาย ลองทักทายเป็นภาษาอังกฤษกันหน่อย ทำเอาอายม้วนต้วน แต่เด็กชายทีเจ ธรรมจักร ติยะสุขสวัสดิ์ ในฐานะพี่คนโตก็พากันผ่านด่านแรกด้วยดี แต่ดูเหมือนทีมงานก็เจอด่านด้วยเช่นกัน เด็กสามคนชื่อ ทีเจ เอที พีที ทำเอาวุ่นวายไปพอสมควรกว่าจะจำได้ว่าใครเป็นใคร
เข้าสู่ด่านที่สอง เดินผ่านอุปกรณ์ทอผ้าและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน สาธิตการตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง งานถนัดของเด็กซุกซน ย่ำครกกันโครมครามพลางเล่าว่าสมัยก่อนกว่าจะได้กินข้าวต้องเอาข้าวสารมาตำ ฝัดเปลือกออกแล้วค่อยเอาไปหุงข้าว ขั้นตอนเยอะแยะเลย
ความรักความสนใจ การบ่มเพาะของครอบครัว ทำให้เด็กๆ ซึมซับรับรู้ถ่ายทอดเรื่องราวของบ้านและแหล่งเรียนรู้ พาไปดูไก่ ดูชิงช้า ดูโน่นนี่นั่นกันสนุกสนาน มี คุณน้าผึ้ง ทศพร รินต๊ะสม ดูแลเด็กๆ เวลาคุณแม่ไม่อยู่ เป็นสมาชิกชุมชนท่องเที่ยวฮักอาข่าโฮมด้วยช่วยเสริมข้อมูลเป็นระยะ
ตอนแม่สาย เชียงราย เกิดวิกฤตน้ำท่วมหนัก ที่นี่ได้รับผลกระทบไม่น้อย น้ำเอ่อท่วม ไหลบ่า ต้องอพยพข้าวของ งานผลิตภัณฑ์ผ้าผืน สินค้าเสียหายไปไม่น้อย เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติซึ่งมีจำนวนอีกมหาศาล น่าเห็นใจมาก ศูนย์เรียนรู้ฮักอาข่าโฮมพร้อมรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจแล้วในตอนนี้ คุณแม่ก็เลยต้องบุกหนักเรื่องการออกร้าน ออกบูธ พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เด็กๆ ร่วมด้วยช่วยกัน เช่นวันนี้ช่วยแม่ต้อนรับพี่ๆ ทีมงาน เป็นต้น
ระหว่างเล่าเรื่องราวเภทภัยก็พาชมจุดไฮไลต์ที่เด็กๆ ชอบเป็นพิเศษ คือ ชิงช้าอาข่า สังคมวัฒนธรรมอาข่ามีชิงช้าเป็นเอกลักษณ์ ชิงช้าขนาดใหญ่จะสร้างขึ้นในเทศกาลโล้ชิงช้า ส่วนชิงช้าเล็กๆ เป็นเครื่องเล่นสนุกที่ใครมาก็ชอบ
ในชุมชนมีคนหลายชนเผ่าชาติพันธุ์ คนล้านนา ไทใหญ่ อาข่า ยอง จึงจัดการท่องเที่ยวชุมชน มีแพ็กเกจพาเที่ยวให้เลือก เคยได้รับรางวัลการจัดการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ของเชียงรายและล้านนาตะวันออก ใครสนใจอะไรก็จัดการประสานผู้รู้มาสาธิตและบรรยาย สาธิตการตีมีด แกะสลักหินหยก ทอผ้า ปักผ้า จุดเด่นของที่นี่คือหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์ชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย
ก่อนลาจากกัน ทีเจ เอที และพีที ชวนพี่นกปักผ้า ถือเป็นความน่ารักที่ได้เห็นเด็กผู้ชายทั้งบ้านช่วยกันปักผ้าให้ชม โดยมีประวัติว่าคุณแม่เป็นนักปักผ้า เคยรับปักผ้าเป็นรายได้ตั้งแต่เด็ก จึงถ่ายทอดงานปักแบบง่ายๆ ให้ลูกชาย หัดกันตั้งแต่ยังเล็ก เห็นบรรยากาศพี่สอนน้อง เด็กๆ สอนพี่นกด้วย
ทีเจ “เวลาจะเริ่มต้นใหม่ให้ปักตรงนี้ หลังจากนั้นให้ปักขึ้น…”
พี่นก “ปักกี่ดอก”
ทีเจ “ปักไปเรื่อยๆ จนเต็ม จนไม่มีที่ว่างเลยครับ”
พี่นก “???”
เด็กๆ หัดปักผ้าจากคุณแม่ เรียนรู้ไป ฝึกสมาธิ เพิ่มทักษะศิลปะไปพร้อมกัน
ทีเจ “แม่สอนผมตั้งแต่อายุ 5 ขวบครับ ผมชอบปัก สนุกดี รู้สึกเหมือนเราทำงานอยู่ เหมือนเล่นอยู่ เวลาเราปักเราโฟกัสไปแค่อย่างเดียว ไม่ได้สนใจอย่างอื่น เลยสนุก ก็ปักลายข้าว ลายดอกไม้ ลายตีนเป็ด”
ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ชุดคนอาข่า โดยเฉพาะชุดสตรี สวยตั้งแต่หัวจรดเท้า หมวก สร้อย เสื้อ กระโปรง สนับแข้ง มีลายปักประดับประดา มีชื่อเรียกแต่ละลายที่สืบทอดกันมา เทคนิคเดินเส้น การปักไขว้แบบครอสติช ปักทึบ มองเป็นลายผีเสื้อ ลายนก ลายเรขาคณิตต่างๆ รวมทั้งการปะติดปะต่อผ้าหลากสี ปักเสริมให้เป็นลวดลายงดงาม ซับซ้อน ปัจจุบันได้เห็นงานที่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น สร้อยจากงานปัก ประดับด้วยโลหะ ลูกตุ้งติ้ง หรือวัสดุอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า
นั่งดูเด็กๆ ปักผ้าด้วยความตั้งใจ ปักแล้วเมื่อยก็พัก ส่งสัญญาณขอมือถือน้าผึ้งมาดูการ์ตูน เล่นเกม สักครู่ก็มาปักต่อ สลับกับวิ่งตึงๆ บนชานบ้านตามวัยซุกซน
การรับเรื่องราวดีๆ จากครอบครัวและชุมชน ส่งต่อความรู้ด้วยความรัก ในอนาคตคงสามารถถ่ายทอดและส่งต่อไปได้มากและกว้างไกลขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากการเรียนรู้คือเกิดการสืบสานวัฒนธรรมและพัฒนาต่อยอดต่อไป
ติดตามชมทุ่งแสงตะวัน ตอน แม่ไม่อยู่ หนูทำได้ ออกอากาศวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 ทางช่อง 3 กด 33 เวลา 05.05 น. และทางเพจทุ่งแสงตะวัน Youtube Payai TV เวลา 07.30 น.
อาทร ริมทาง