หน้าหนาวปีนี้หนาวได้สมศักดิ์ศรีฤดูหนาวจริงๆ อุณหภูมิลดต่ำลงหลายระลอก ลมพัดเย็นทั้งวัน เด็กๆ ไปโรงเรียนตอนเช้าก็หนาว กลางวันก็ยังหนาว ตอนเย็นๆ ก็หนาว จะอาบน้ำทีเด็กๆ มักอิดออด หากวันไหนต้องสระผมด้วยแล้วยิ่งทำใจลำบาก

ซาลอนใต้ร่มไม้
หนาวนี้เด็กๆ หลายคนก็เลยมีฟาร์มเหาเป็นของตัวเอง พาให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูเพลียใจ
“ติดเหา” คงจะเป็นวาระแห่งชาติของหลายๆ บ้าน หลายๆ โรงเรียน รวมทั้งโรงเรียนวัดมณีโชติ ที่จังหวัดราชบุรี ขบวนการกำจัดเหาของโรงเรียนแห่งนี้กลายเป็นเรื่องสนุก เด็กๆ ไม่ได้อยากเป็นเหา แต่อยากสระผม เวลาได้สระผมในซาลอนใต้ร่มไม้ของคุณครูเป็นความรู้สึกพิเศษเหมือนได้เข้าร้านเสริมสวยของผู้ใหญ่ก็ไม่ปาน

ช่วยสางเหาให้เพื่อน
เด็กๆ ที่เป็นเหาทุกคนร่วมมืออย่างเต็มใจไม่มีอิดออดเขินอายเพราะคุณครูชวนเด็กๆ ร่วมปฏิบัติการกำจัดเหา ตั้งแต่ไปเก็บสมุนไพรมาทำแชมพูเอง ได้แชมพูมาแล้วก็ให้นักเรียนช่วยกันหมักผม สระผม หวีเหา หาเหาให้กันเอง ความแสบๆ คันๆ กลายเป็นกิจกรรมสุดสนุก
ต้นน้อยหน่ากับมะกรูดในสวนของโรงเรียนถูกใช้งานหนักหน่อยในระยะนี้ เด็ดกันจนแทบจะหมดต้น ด้วยประสิทธิภาพกำจัดเหาที่ดีเยี่ยม
คุณครูหมิว กาญจนาพร พันธไชย บอกเด็กๆ ว่า “ผิวมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหย เอาไปสกัดแล้วจะมีประสิทธิภาพดี แถมในผิวมะกรูดยังช่วยบำรุงเส้นผม ช่วยให้ผมนุ่มสวย เงางาม แข็งแรง ป้องกันแสงแดด ป้องกันความร้อนได้ดีด้วย”

เรียนรู้วิธีทำแชมพูกับครูหมิว
ส่วนใบน้อยหน่ามีกลิ่นฉุน น้องน้ำเพชร ด.ญ.จินดารัตน์ คล้ำมณี ผู้มีฟาร์มเหาเล็กๆ เป็นของตนเองบอกว่า “ใบน้อยหน่าฉุนแรงมากค่ะ ไม่เหมือนมะกรูด มะกรูดหอม แม่หนูก็ใช้ใบน้อยหน่า กลิ่นของมันน่าจะไล่เหาดีมั้งคะ”

ด.ญ.จินดารัตน์
คุณครูบอกน้ำเพชรและเพื่อนๆ ว่าไม่เพียงแค่กลิ่น แต่ในใบน้อยหน่ามีสารอัลคาลอยซึ่งเป็นสารอินทรีย์ธรรมชาติ มีฤทธิ์กำจัดเหา ทำให้ไข่เหาฝ่อ ไข่เหาฝ่อหมายถึงเหาจะไม่ออกมาเป็นตัว เพราะฉะนั้นเราจึงนิยมเอาไปกำจัดเหา เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้กันมาทุกยุคทุกสมัย

น้ำสกัดผิวมะกรูดและใบน้อยหน่า
มะกรูดกับใบน้อยหน่าจึงเป็นขวัญใจคุณครู คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองเด็กๆ มาทุกยุคทุกสมัย
จากวิกฤตติดเหา เด็กๆ นักเรียนโรงเรียนวัดมณีโชติ ราชบุรี เรียนรู้การพึ่งพาสมุนไพรใกล้ตัว ต่อไปทำได้ทำเป็นก็จะดี สะดวก และปลอดภัยที่สุด ความรู้เหล่านี้ไม่ล้าสมัยเลย สมุนไพรใกล้ตัวยังคงเป็นที่พึ่งของคนเราได้เสมอ
เหาแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งผ่านการสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น หวี หมวก หรือผ้าขนหนู เหาไม่สามารถกระโดดหรือบินได้ แต่สามารถคลานจากเส้นผมของคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่ายดาย การที่เด็กๆ ใช้ชีวิตร่วมกันทั้งวัน เรียน เล่นด้วยกัน ทั้งในห้องเรียน สนามเด็กเล่น ทำการบ้านด้วยกัน ย่อมเป็นการยากที่จะปลอดภัยจากการเป็นเหา

ผมสะอาด เบา สบาย หายคัน
เด็กๆ บอกว่าเหานั้นติดได้ก็หายได้ รู้วิธีแล้วจะนำมาปฏิบัติ “เหาไม่ชอบหัวที่หอมสะอาด หนูจะสระผมบ่อยๆ ไม่ใช้หวีร่วมกับเพื่อน ตัดเล็บสั้นๆ สะอาดๆ ค่ะ” น้องน้ำเพชรกล่าวทิ้งท้ายไว้แบบนี้
พบปฏิบัติการทลายฟาร์มเหา เสาร์นี้ 18 มกราคม 2568 ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน ยังมีเหา เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 HD หมายเลข 33 และในวันเดียวกันเวลา 07.30 น. ทางเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน และยูทูบ PayaiTV
วสวัณณ์ รองเดช