มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดงาน “เปิดบ้านมูลนิธิ (Open House) : แสงสว่างสู่ทางฝัน” เมื่อวันที่ 13-15 ม.ค. 2568 นับเป็นการเปิดให้คนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมหลังจากไม่ได้จัดกิจกรรมมากว่า 20 ปี เปิดโลกเข้าไปสัมผัสชีวิตและเรื่องราวผู้พิการทางการเห็นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะน้องๆ นักเรียน “โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ” ที่มาร่วมแสดงความสามารถและเป็นส่วนหนึ่งของงาน ทั้งการแสดงดนตรี ร้องเพลง วาดรูประบายสี สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์งานฝีมือต่างๆ อาทิ ร้อยลูกปัด ทอผ้า ถักเย็บ ฯลฯ แม้น้องๆ จะมองไม่เห็นแต่ไม่เป็นปัญหาเพราะทำทุกอย่างได้ปกติ เพียงแค่มองไม่เห็นแต่มีความฝันเหมือนเด็กอื่นๆ ทั่วไป

สดจากเยาวชน

น้องๆ เชิญชวนเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้

นางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและสร้างความเข้าใจในชีวิตของผู้พิการทางการเห็นผ่าน “พิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้” ที่เข้าเยี่ยมชมได้แบบเท่าเทียมกัน รวมถึงการจัดกิจกรรมแสดงความสามารถพิเศษและนำเสนอผลงานความสำเร็จของนักเรียนและผู้ฝึกอาชีพ การเปิดพื้นที่ตรงนี้ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้พิการทางการเห็นสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีเกียรติและมีความสุขเช่นคนสายตาปกติทั่วไป

สดจากเยาวชน

สาวณี

ตัวแทนน้องๆ ผู้พิการทางการเห็นร่วมพูดคุยด้วยรอยยิ้มและความสุข เริ่มจาก น้องแนน ด.ญ.อนัญญา ปัดภัย ชั้น ป.4 ผู้มีความสามารถด้านกีฬาและศิลปะ มีความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นคุณครูสอนวิชาศิลปะ การมาเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพได้ฝึกทักษะการใช้ชีวิตและเรียนศิลปะวิชาที่ชอบ

“หนูไม่รู้สึกแตกต่างจากคนอื่นๆ ในงานเปิดบ้านมูลนิธิได้โชว์ความสามารถด้านการเขียนวาดภาพระบายสี อยากเชิญชวนทุกคนมาที่มูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ มีสิ่งให้เรียนรู้และมีกิจกรรมน่าสนใจหลายอย่าง เช่น บอร์ดเกมกระดานแรกของโลกที่คนตาบอดและคนตาดีเล่นด้วยกันได้ อยากรู้ว่าเป็นแบบไหนต้องมาลองเล่นนะคะ” น้องแนนกล่าว

สดจากเยาวชน

น้องแอน-น้องแนน

ด้าน น้องแอน ด.ญ.อรัญญา ปัดภัย ชั้น ป.5 พี่สาวน้องแนน ซึ่งชื่นชอบด้านกีฬา เล่นกีฬาฟุตบอลในตำแหน่งกองหลังและยังเล่นกีฬาโกลบอลได้เกือบทุกตำแหน่ง ถึงขั้นเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันมาแล้ว น้องแอนยังไม่แน่ใจว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร แต่อยากเป็นนักกีฬา

สดจากเยาวชน

น้องแนนโชว์ฝีมือวาดภาพ

“การมองไม่เห็นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตเลยค่ะ ยิ่งมีโอกาสเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น การเรียนอักษรเบรล ตอนนี้อ่านได้คล่องแคล่ว และที่โรงเรียนก็มีเครื่องลิบหลุยส์ (Liblouis) ช่วยแปลงข้อความปกติเป็นอักษรเบรล ทำให้พวกเรามีคลังข้อมูลและความรู้ในสิ่งต่างๆ มากขึ้นค่ะ” น้องแอนกล่าว

สดจากเยาวชน

น้องส้มโอ-น้องมีน

ขณะที่ น้องมีน ด.ญ.มินญาดา ปีบ้านใหม่ ชั้น ป.6 มีความสามารถด้านศิลปะและดนตรีไทย ในงานโชว์ฝีมือเล่นอังกะลุงร่วมกับเพื่อนๆ แต่ความฝันตอนโตกลับเป็นสิ่งใกล้ตัว

“โตขึ้นหนูอยากเป็นแม่ค้าขายขนมเค้กค่ะ เพราะหนูชอบกินก็เลยอยากจะขาย กำลังจะฝึกลองทำเบเกอรี่ขนมเค้กต่างๆ เพราะตอนนี้ทำเป็นแต่แซนด์วิช หนูทำทุกอย่างในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง รู้สึกสนุกและชอบทุกอย่างที่คุณครูสอน มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาทักษะความสามารถ หนูไม่เคยคิดว่าตัวเองมีไม่เท่าคนอื่น เพราะตัวเราใช้ชีวิตได้ตามปกติค่ะ”

สดจากเยาวชน

การแสดงอังกะลุง

ปิดท้ายที่ น้องส้มโอ น.ส.รัตติกาล เภสัช ชั้น ป.6 โดดเด่นด้านการเล่นเปียโนและกีตาร์ ทั้งยังร้องเพลงแนวป๊อปและลูกทุ่งได้ไพเราะ ส้มโอบอกว่าโตขึ้นอยากเป็นนักร้อง อยากแต่งเพลง มีเพลงเป็นของตัวเอง ถ้ามีโอกาสอยากไปประกวดร้องเพลง การมองไม่เห็นไม่เป็นอุปสรรคต่อการสานฝันให้เป็นจริง เพราะที่โรงเรียนสอนวิชา O&M (Orientation and Mobility) การฝึกทักษะสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหวสำหรับคนตาบอด เช่น สอนการฝึกเดินด้วยไม้เท้า การใช้สัญลักษณ์แผ่นทางเดินหรือเบรลบล็อก สิ่งเหล่านี้ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไม่ได้กลัวหรือไม่กล้าออกไปไหน

“อยากเชิญชวนทุกคนมาสัมผัสว่าพวกหนูไม่ได้แตกต่างและยินดีต้อนรับทุกคน มีพิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้และห้องนิทรรศการศิลปะที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม หรือจะมาอ่านหนังสือเสียงให้พวกหนูฟังก็ได้นะคะ” น้องส้มโอกล่าว

สดจากเยาวชน

มูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ ตั้งอยู่ตรงข้ามวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม “พิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้” แสดงวิวัฒนาการด้านการศึกษาของคนตาบอด รวมถึงห้องจัดแสดงสภาวะอากาศ จำลองห้องมืดให้คนตาดีทดลองเข้าไปอยู่เพื่อให้ความรู้เรื่อง Climate Chance เพื่อร่วมกันดูแลโลกและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ติดตามข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิได้ที่เว็บไซต์ www.blind.or.th และเฟซบุ๊ก มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน