อะไรจะแสดงออกถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของชาติไทยได้ดีไปกว่า “อาหารไทย”
“ศิลปวัฒนธรรม” ผู้นำคอนเทนต์ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และวัฒนธรรม ในเครือมติชน ที่มุ่งมั่นเชื่อมโยงอาหารเข้ากับมิติประวัติศาสตร์ จึงจัดงานยิ่งใหญ่รับศักราช 2568 SILPA SAVOURY ชิมประวัติศาสตร์ “วัดราชาธิวาส-คฤหาสน์พระยา พาลาซโซ” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568

ทัวร์วัดราชาธิวาส ตำนานคณะธรรมยุต
พาชมความงาม “วัดราชาธิวาส” วัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงก่อตั้งสงฆ์คณะธรรมยุต ฟังเกร็ดน่ารู้อาหารชาววังจากกูรูอาหารอันดับต้นๆ ของไทย พร้อมอร่อยกับสำรับไทยโบราณ ติดอันดับเมนูแนะนำมิชลิน 7 ปีซ้อน ที่ “พระยา พาลาซโซ” คฤหาสน์หลังงามอายุร้อยปี
งานนี้คือการสานต่อความสำเร็จจาก 2 กิจกรรมในปี 2567 ที่ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ทั้ง SILPA SAVOURY “ชิมประวัติศาสตร์ผ่านปลาร้า น้ำปลา กะปิ” ในเดือนกันยายน และ SILPA SAVOURY ชิมประวัติศาสตร์ “เยาวราชครบรส” ในเดือนธันวาคม
โดยกิจกรรมครั้งล่าสุดนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดี จาก บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

ปราปต์ บุนปาน มอบของที่ระลึกแก่วิทยากร
ภายในงาน มีผู้บริหารเครือมติชน นำโดย ปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ สุรพล พิทยาสกุล รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและการตลาด ฯลฯ ให้การต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เจ้าของผลงานหนังสือ “ประชุม(ลับ)กับธงทอง” โดยสำนักพิมพ์มติชน
รวมทั้งผู้บริหารและคณะจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง บริษัท พี.เอฟ.พี. เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ไอติง แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด และบริษัท โปรอิมเมจ จำกัด
เต็มอิ่ม 3 กิจกรรมครบรส ท่องประวัติศาสตร์ผ่านทัวร์ ฟังประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องเล่า และชิมประวัติศาสตร์ผ่านอาหาร กิจกรรมดีๆ ต้อนรับปีใหม่ งานนี้งานเดียวก็รู้สึกได้ถึงความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่อบอวลริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา!
‘วัดราชาธิวาส’ ปฐมบทคณะธรรมยุต
ประเดิมงานด้วยการ TOUR “วัดราชาธิวาส ตำนานคณะธรรมยุต” นำชมโดย ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ยลความงามของวัดเก่าแก่ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เมื่อครั้งยังทรงเป็น “ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ” เสด็จมาประทับจำพรรษา ก่อนจะทรงก่อตั้งคณะธรรมยุตขึ้นที่นี่ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ในไทย

ธัชชัย ยอดพิชัย นำชมภายในวัดราชาธิวาส
ที่นี่ ทุกคนได้ชมงานศิลปกรรมล้ำค่าตามจุดต่างๆ ภายในวัด เริ่มตั้งแต่ พิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ ร.4 ที่รวบรวมสิ่งของเปี่ยมคุณค่ามากมาย, พระพุทธไสยาสน์ แห่งโรงเรียนวัดราชาธิวาส

ภายในพิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ ร.4
ปิดท้ายด้วย พระเจดีย์ และ พระอุโบสถ แห่งวัดราชาธิวาสวิหาร สถานที่ประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณี ทั้งยังมีจิตรกรรมฝาผนังเนื่องในพุทธศาสนา ซึ่งเขียนด้วยเทคนิคเขียนสีบนปูนเปียกแห่งเดียวในไทยด้วย

ภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส
เจาะลึกตำรับชาววัง ที่ ‘พระยา พาลาซโซ’
จากนั้นเป็นการนั่งเรือข้ามฟากสู่อีกฝั่งของลำน้ำเจ้าพระยา ไปยังคฤหาสน์หลังใหญ่ตรงข้ามสวนสันติชัยปราการ คือ “พระยา พาลาซโซ” โรงแรมบูทีกระดับลักชัวรี ที่มีห้องพักเพียง 15 ห้อง ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่หากใครต้องการไปพักผ่อนต้องนั่งเรือไปเท่านั้น

ส่วนหนึ่งของผู้ร่วมกิจกรรมที่พระยา พาลาซโซ
พระยา พาลาซโซ เดิมคือ “บ้านบางยี่ขัน” เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2466 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ตามสถาปัตยกรรมอิตาเลียนแบบปัลลาดิโอ เป็นที่พำนักของอำมาตย์เอก พระยาชลภูมิพานิช และครอบครัว
นอกจากผู้ร่วมกิจกรรมจะได้ดื่มด่ำความงามของคฤหาสน์แล้ว ยังเพลิดเพลินกับเรื่องราวน่ารู้ของอาหารตำรับชาววัง ในช่วง TALK “อิ่มเอมตำรับชาววัง” โดย ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ ฟู้ดสไตลิสต์ อันดับต้นของไทย ผู้เรียนรู้การทำอาหารจากผู้เชี่ยวชาญอาหารชาววังหลายท่าน อาทิ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ ม.ล.ต่อ กฤดากร ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ
ดำเนินรายการโดย อัญชัญ พัฒนประเทศ ผู้ประกาศข่าวมติชนทีวี

ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ เล่าเกร็ดน่ารู้ตำรับอาหารชาววัง
ดวงฤทธิ์เล่าว่า สิ่งที่ทำให้อาหาร “ชาววัง” แตกต่างจากอาหารชาวบ้าน คือความละเมียดในทุกมิติ ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ วิธีการทำ วิธีการกินเป็นสำรับ กินให้ได้รสชาติครบทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด และ “อูมามิ” ไปจนถึงภาชนะสำหรับใส่อาหาร แต่ไม่ว่าชาววังหรือชาวบ้าน ก็มี “ข้าว” เป็นอาหารหลักเสมอ
พร้อมยกตัวอย่างวัง “ขึ้นชื่อ” เรื่องอาหารในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น วังวรดิศ วังบางขุนพรหม วังสวนสุนันทา ฯลฯ
ส่วนสาเหตุว่าทำไมสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยุครุ่งเรืองของอาหารชาววัง ดวงฤทธิ์เผยว่า เพราะยุคนั้นแต่ละวัง แต่ละพระตำหนัก มีการประชันกันทำอาหาร ทำให้เกิดการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งบุคคลที่โดดเด่นคือ พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ แห่งวังสวนสุนันทา พระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการทำอาหาร จนทรงมีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวาน

เชฟโจ-ภัทร์นิธิ ตั้งพีรพัฒน์ รังสรรค์เมนูพิเศษให้ผู้ร่วมงาน
ดวงฤทธิ์ยังยกตัวอย่างหลายเมนูที่มาจาก “ไอเดีย” บรรเจิดของคนยุคนั้น เช่น
เมี่ยงลาว ของวังสวนสุนันทา จะไม่ผัดเครื่อง เอาขิง หอมแดง กระเทียมเจียว หอมเจียว กากหมู ส้ม มะขาวเปียก เอามาเคล้าแล้วปั้น ห่อด้วยใบเมี่ยง แท้ๆ แบบโบราณ จะไม่ใช้ใบผักกาดดอง นี่คือเมี่ยงที่คิดขึ้นจากคนชาววัง หรือของวังบางขุนพรหมก็จะอีกแบบหนึ่ง จะผัดรากผักชี พริกไทย กระเทียม

หมูผัดส้มเสี้ยว

แกงจืดสาคูยัดไส้ไข่เค็ม
แต่ละแห่งจะมีเอกลักษณ์ ไม่ใช่ว่าจะมีต้นฉบับหรือต้นตำรับเป๊ะๆ รสมือใครก็รสมือมัน ในสมัยก่อนเขาจะไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจน
ฟู้ดสไตลิสต์ อันดับต้นของไทยยังให้มุมมองเรื่องการสืบสานอาหารไทยโบราณให้อยู่คู่สังคม ตลอดจนการสร้างเสริมคุณค่าให้กลายเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทยอย่างยั่งยืน และเกร็ดความรู้ที่ทั้งสนุกน่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดล้วนบ่งชี้ว่า อาหารไทยโบราณคือมรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทยอย่างแท้จริง
ลิ้มรสอาหารไทยโบราณ ห้องอาหารพระยา ไดนิ่ง
จากนั้นเป็นช่วง TASTE “สำรับโอชารส” ที่ผู้ร่วมงานทุกคนได้ลิ้มรสชาติอาหารไทยโบราณที่ “ห้องอาหารพระยา ไดนิ่ง” ภายในพระยา พาลาซโซ การันตีความอร่อยด้วยการติดโผเมนูแนะนำของมิชลิน 7 ปีซ้อน

แกงนางลอย
เมนูเรียกความอิ่มอร่อย เรียงรายมาทั้ง ล่าเตียง กระทงทองไก่ กุ้งตะไล รับประทานพร้อมข้าวตัง พล่าปลา หมูผัดส้มเสี้ยว แกงนางลอย แกงจืดสาคูยัดไส้ไข่เค็ม หลนปลาเค็ม และบัวลอยอินทนิล

พล่าปลา อีกหนึ่งเมนูเด็ดช่วง TASTE สำรับโอชารส
ส่งท้ายกิจกรรมด้วยความประทับใจ ท่ามบรรยากาศสุดลักชัวรี่ สัมผัสได้ถึงความรุ่มรวยด้านวัฒนธรรมอาหารของไทยได้ดีเลยทีเดียว
เรียกได้ว่า มางาน SILPA SAVOURY ชิมประวัติศาสตร์ “วัดราชาธิวาส-คฤหาสน์พระยา พาลาซโซ” ครั้งนี้ ทั้งอิ่มท้อง อิ่มความรู้คู่ความสนุก ถือเป็นความประทับใจต้อนรับปีใหม่แบบครบรสจริงๆ