‘เทคโนโลยีชาวบ้าน’ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานสัมมนาแรกของปี ‘ไข่ผำ-วานิลลา : เจาะลึกโอกาสธุรกิจพืชเทรนด์ใหม่’ สองพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต
ได้รับเกียรติจาก นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาโดยมีผู้บริหารเครือมติชน นำโดยนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท, นายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ต้อนรับ ที่อาคารข่าวสด
นางนฤมลกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายชัดเจนที่จะผลักดันพืชมูลค่าสูง ด้วยการวางแผนพัฒนาพืชเศรษฐกิจกลุ่ม Future Food และ Function Food ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย และตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในเชิงสุขภาพ
ขณะที่ “ไข่ผำ-วานิลลา” ตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลก กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันไข่ผำและวานิลลา ด้วยงานวิจัยและพัฒนา จากงานวิจัยพบว่า “ไข่ผำ” เป็นพืชมีโปรตีนที่ดีสูง สอดคล้องกับกระแสชาวโลกกำลังให้ความสำคัญถึงความมั่นคงทางอาหาร
ภายในงานมีการพูดคุยกับ นายอนุวัฒน์ กำแพงแก้ว ผู้อำนวยการ กลุ่มวิจัยพืชอนาคตใหม่ กรมวิชาการเกษตร และ ณัฐ-ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง เจ้าของสวนจันทร์เรือง จ.จันทบุรี ผู้พัฒนาเลี้ยงผำเชิงอุตสาหกรรม ในหัวข้อ “ปลดล็อกศักยภาพไข่ผำ” พืชเทรนด์ใหม่ ตอบโจทย์อนาคตยั่งยืน
นายอนุวัฒน์กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีนโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจใหม่อย่าง “ไข่ผำ” ซึ่งเป็นซูเปอร์ฟู้ด ปัจจุบันกลุ่มวิจัยพืชอนาคตใหม่ ร่วมมือกับสวนจันทร์เรือง ในการศึกษา และทดสอบวิธีการเพาะเลี้ยงไข่ผำสำหรับบริโภคในโรงเรือน เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งอบรมและพัฒนาเครือข่ายที่สนใจเพาะเลี้ยงไข่ผำให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน GAP
ขณะเดียวกันสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไข่ผำที่แปลกใหม่ หลากหลายรูปแบบ และส่งเสริมการบริโภคไข่ผำในประเทศหากใครสนใจเพาะเลี้ยงไข่ผำ ขอแนะนำว่า อย่าลงทุนเชิงเดี่ยว ควรต่อยอดกิจการเดิม หรือเสริมธุรกิจใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน
ณัฐวุฒิ เจ้าของสวนจันทร์เรือง จ.จันทบุรี ผู้พัฒนาเลี้ยงผำเชิงอุตสาหกรรม ด้วยวิธีการเลี้ยงในระบบปิดแนวตั้ง เพื่อให้ได้ผำที่สะอาด มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สู่การสร้างมูลค่า กล่าวในหัวข้อปลดล็อกศักยภาพไข่ผำ พืชเทรนด์ใหม่ตอบโจทย์อนาคตยั่งยืน ว่า
ก่อนจะเลี้ยงไข่ผำ เดิมทำสวนทุเรียน ซึ่งมีผลผลิตปีละ 1 ครั้ง ทำให้มีช่วงเวลาว่างระหว่างรอเก็บเกี่ยว จึงพยายามหาพืชอื่นมาทำ ส่งผลให้ช่วงนั้นได้รู้จักไข่ผำ เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาก็เริ่มเลี้ยงแบบชาวบ้าน ขณะนั้นราคาซื้อขายในตลาดทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท
ช่วงแรกยังขายไม่ได้ จึงได้ศึกษาหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และได้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้คำปรึกษาและสนับสนุน ทำให้เราเลี้ยงไข่ผำแบบระบบปิด เพาะเลี้ยงแนวตั้ง ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่ได้มาตรฐาน สามารถเลี้ยงไข่ผำในปริมาณมากในพื้นที่จำกัด และลดการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรีย หรือโลหะหนัก
นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบน้ำจากธรรมดาเป็นระบบน้ำวน และต่อยอดสร้างโรงเรือนขึ้นมา เป็นการเลี้ยงระบบปิดแบบแนวตั้ง ได้รับรองมาตรฐาน GAP เพื่อรองรับการขยายตลาดส่งออกในอนาคต
การเพาะเลี้ยงไข่ผำรูปแบบใหม่ ทำให้เรามีผลผลิตมากขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูป ทำให้ขายได้เป็นกิโลกรัม (ก.ก.) ละ 4,000 บาท และด้วยมาตรฐานการรับรองและการเลี้ยงที่สะอาด ทำให้สินค้าเรามีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับกับตลาด
เพราะต้องยอมรับว่าไข่ผำ เป็นพืชน้ำ อาจจะมีสิ่งปนเปื้อน ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ที่นอกจากเป็นพืชเหมาะกับการบริโภค ยังสามารถยกระดับไปสู่สินค้าอื่นๆ ได้
ตอนนี้ทางเรายังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ พัฒนายกระดับสารสกัดภัยไข่ผำด้วย สำหรับตลาดที่เราขายได้ เช่น ญี่ปุ่น และกำลังขยายไปสู่ตลาดในตะวันออกกลาง ตอนนี้อยู่ระหว่างการขอรับรองมาตรฐานฮาลาล
โดยมีลูกค้าที่สนใจ เช่น ดูไบ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และบาห์เรน ซึ่งอยู่ระหว่างการจะทำตลาดส่งออก เพราะเป็นกลุ่มตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ ยังมองตลาดอื่นด้วย เนื่องจากเราจะเน้นให้ความสำคัญการส่งออกเป็นหลัก
ปิดท้ายเวทีสัมมนากับพืชเศรษฐกิจอีกตัว ในหัวข้อ ‘วานิลลา’ พืชมูลค่าสูง ปลูกอย่างไร ให้เป็นที่ต้องการของตลาด โดย ‘กวาง-พาพร โตอินทร์’ เจ้าของสวนแม่หม่อน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งถือเป็นแปลงวานิลลาแรกๆ ที่ปลูกในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว
และ ‘นิกกี้-วิสุตา โลหิตนาวี’ เจ้าของไร่วานิลลา ‘Khao Yai Vanilla’ บนพื้นที่ 10 ไร่ จ.นครราชสีมา ที่เชื่อว่าดิน ฟ้า อากาศของเขาใหญ่ ทำให้ฝักวานิลลามีคุณภาพสูง และมีความหอมเป็นพิเศษ
พาพร เจ้าของสวนแม่หม่อน กล่าวว่า ปัจจุบันที่สวนปลูกวานิลลาสายพันธุ์แพลนนิโฟเลีย ซึ่งเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมทั่วโลก 90% ราคาขายปลีกฝักเกรดเอ จะอยู่ประมาณ 150-250 บาทต่อฝัก ถ้าเป็นฝักจัมโบ้ราคาสูงถึง 300 บาทต่อฝัก ทำมา 5 ปีกว่า มีคนที่มาถามหาซื้อฝักบ่มแห้งแทบทุกวัน แต่ไม่มีของให้ เพราะเราทำเพื่อเก็บไว้แปรรูปเองก่อน
วานิลลาถือเป็นพืชยั่งยืนอีกชนิดหนึ่ง เพราะยังมีความต้องการอยู่ทั่วโลก ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ทำแบบครบวงจร คือ เกษตรกรเป็นผู้ปลูก และแปรรูปเอง แบบนี้จะยั่งยืนที่สุด
พาพรยังเล่าว่า ตอนแรกเราทำสวนหม่อนมาก่อน ที่วังน้ำเขียว เริ่มแรกปลูกมัลเบอร์รี่รับประทานผล แต่มีความเสี่ยงจึงกระจายความเสี่ยงด้วยการทำเกษตรผสมผสาน จึงมองหาพืชที่เก็บไว้ได้นาน จึงเลือกมาเป็นวานิลลาเมื่อ 6-7 ปีก่อน
สำหรับการเลี้ยงดูวานิลลา เหมือนเลี้ยงกล้วยไม้ เพราะเป็นพืชตระกูลเดียวกัน เลี้ยงแบบลองผิดลองถูก โดยพืชวานิลลาชอบความชื้น อากาศเย็น คิดว่าเนื่องจากไทยมีป่าที่เป็นต้นไม้ธรรมชาติมีปริมาณมาก มีผลที่ออกมามีกลิ่นเฉพาะตัวตามแหล่งที่ปลูก รายได้ของสวนที่ปลูกวานิลลา ส่วนใหญ่จะเป็นการแปรรูปในเบเกอรี่ ในไอศกรีม เป็นต้น
ด้าน วิสุตา เจ้าของไร่วานิลลา ‘Khao Yai Vanilla’ กล่าวว่า ครอบครัวเราเป็นเจ้าของไร่องุ่น กราน-มอนเต้ (GranMonte Vineyard and Winery) แหล่งปลูกองุ่นเพื่อผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ในหุบเขาในอำเภอปากช่อง
สมัยเด็กอยากเป็นนักพฤกษศาสตร์ ชอบผสมเกสรกล้วยไม้พอคุณพ่อ คุณแม่มาเริ่มไร่องุ่น แต่หลังบ้านปลูกพืชหลายอย่างรวมทั้งวานิลลา ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัว การดูแลเหมือนปลูกองุ่น หลายคนบริโภคทุกวัน เลยคิดว่าพืชนี้น่าสนใจ เลยทดลองปลูก และปลูกเพิ่ม
วานิลลามีต้นกำเนิดที่เม็กซิโก มีความมหัศจรรย์คล้ายๆ องุ่นทำไวน์ เวลาปลูกต่างพื้นที่ ต่างสภาพอากาศจะให้กลิ่นแตกต่างกัน การประเมินคุณภาพของวานิลลา ก็ใช้ประสาทสัมผัสแบบเดียวกับที่เราใช้ชิมไวน์ เชื่อมั่นว่าการปลูกวานิลลาแบบเปิด และได้สัมผัสสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ตั้งแต่อากาศ ดิน และน้ำของเขาใหญ่ ทำให้วานิลลาของเรามีเอกลักษณ์
วานิลลาสายพันธุ์แพลนนิโฟเลีย ชอบอากาศเย็น แสงแดดและแล้ง ซึ่งสภาพแบบที่ว่าคือเขาใหญ่ โดยเราเริ่มจำนวน 2 ต้นในปี 2555 และขยายเป็น 20 ต้น ในปี 2558 ตอนนี้เริ่มขายฝักแล้ว ขยายเป็น 400 ต้นในปี 2566 และปีนี้ขยายเพิ่มเป็น 500 ต้นแล้ว
สำหรับผลผลิตวานิลลา พ.ย.-ธ.ค. เข้าหน้าแล้งให้น้ำวานิลลาน้อยมาก และเริ่มให้น้ำอีกทีเดือนธ.ค.-ม.ค. ได้ดอกในเดือนก.พ. จึงเริ่มผสมเกสรด้วยมือ ก่อนติดฝัก และกว่าฝักจะสุกใช้เวลา 9 เดือน อุณหภูมิช่วงสุกก็สำคัญ หากอุณหภูมิสูงจะทำให้ฝักวานิลลาสะสมอาหารน้อย
ปลูกต้นแรกจนได้ผลผลิตขาย ใช้เวลา 4 ปี จากลงทุนล่าสุดปี 2568 จำนวน 500 ต้น เงินลงทุน 6 แสน ปี 2571 จะเก็บฝักได้ 10,000 ฝัก ฝักพร้อมขายปี 2572 หากขายส่งได้ 8,000 บาท/ก.ก. หากทำตลาดเอง 30,000 บาท/ก.ก. และปีที่ 6 ราคาและรายได้จะเพิ่มเป็น 10 เท่า
สิ่งสำคัญคือ อุณหภูมิ ปริมาณแสงมีความสำคัญกับผลผลิตและความหอมของวานิลลา
สำหรับผู้ที่สนใจ “เลี้ยงไข่ผำ-ปลูกวานิลลา” พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต สอบถามได้ที่กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร