ปัจจุบันกระแสเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero waste) นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร
โดยมุ่งเน้นนโยบายขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เป็นแนวทางที่บูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดปริมาณของเหลือในภาคการเกษตรที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5
นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศท.12 ได้ศึกษาการเลี้ยงโคเนื้อมาตรฐาน GAP โดยติดตามการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดี ปากน้ำโพ ต.พระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ BCG Model

นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์
โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ผลิตอาหารเลี้ยงโคเนื้อ จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เปลือกทุเรียน ฟางข้าว และเศษอ้อย ผ่านกระบวนการหมักจุลินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ซึ่งวิสาหกิจฯ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2561 โดยมี นางวิยะดา ธีระราษฎร์ เป็นประธาน และ ดร.นิติพล พลสา นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม และนายภูชิต มิ่งขวัญ เป็นผู้ประสานงานวิสาหกิจฯ มีสมาชิกเกษตรกร 17 ราย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะทำการเกษตรอื่นเป็นหลัก แต่ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมและเรียนรู้กระบวนการผลิตกับวิสาหกิจฯ อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันวิสาหกิจฯ มีพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อจำนวน 5 ไร่ มีโคเนื้อจำนวน 50 ตัว ซึ่งวิสาหกิจฯ ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำ ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้ได้อาหารสัตว์หมักจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงและเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร
นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับหน่วยงานสถานศึกษาและหน่วยงานภาครัฐเพื่อศึกษานวัตกรรมอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น
สำหรับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่วิสาหกิจฯ เลือกใช้เป็นหลักคือ เปลือกทุเรียน เนื่องจากมีปริมาณสารอาหารสูง โดยเฉพาะเยื่อใย ไขมัน โปรตีน ใช้ทดแทนอาหารหยาบและอาหารข้นได้
ซึ่งวิสาหกิจฯ จะนำเปลือกทุเรียนมาผลิตอาหารเลี้ยงโคเนื้อในช่วงที่ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาด ระหว่างเดือน ก.พ.-ส.ค.ของทุกปี ซึ่งจะมีเปลือกทุเรียนเหลือทิ้งจำนวนมากในแต่ละวันเพื่อลดปริมาณขยะและเพิ่มคุณค่าทางการเกษตร
ทางวิสาหกิจฯ ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมเปลือกทุเรียนที่เหลือใช้จากผู้ขายทุเรียนในพื้นที่เขต อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ในปริมาณเฉลี่ย 60-80 ตัน/ปี โดยต้นทุนการผลิตอาหารโคเนื้อจากเปลือกทุเรียนหมักจุลินทรีย์ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.7 บาท/กิโลกรัม ประกอบด้วย ค่าน้ำมันรถเก็บเปลือกทุเรียน ค่าน้ำมันเครื่องจักร ค่าจุลินทรีย์ ค่าแรงงานบดสับ และค่าเสื่อมอุปกรณ์ โรงเรือน เครื่องจักร และถังหมัก
หากเปรียบเทียบกับอาหารหยาบทั่วไปที่ทำจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะมีทุนการผลิตเฉลี่ย 2 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะเห็นได้ว่าอาหารที่ผลิตจากเปลือกทุเรียนสามารถช่วยลดต้นทุนได้ 15% โดย โค 1 ตัวจะบริโภคประมาณ 30 กิโลกรัม/ตัว/วัน
ทั้งนี้ นอกจากจะลดต้นทุนการผลิตแล้ว อาหารที่ผลิตจากเปลือกทุเรียนหมักจุลินทรีย์ ยังมีปริมาณสารอาหารที่ใกล้เคียงกับอาหารหยาบและอาหารข้น สามารถใช้ทดแทนกันได้
ซึ่งหากเทียบสัดส่วนสารอาหารพบว่าเปลือกทุเรียนหมักจุลินทรีย์มีโปรตีน 8.42% มากกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีโปรตีน 8.20% ในขณะที่เปลือกทุเรียนมีไขมัน พลังงาน และเยื่อใยสูง ซึ่งไม่พบในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยไขมัน พลังงาน และเยื่อใยมีส่วนช่วยทำให้โคมีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วไป
ในส่วนกระบวนการหมักนั้นจะเริ่มจากการคัดแยกสิ่งปะปนออกจากเปลือกทุเรียน เสร็จแล้วลำเลียงสู่กระบวนการสับโดย ใช้เครื่องสับหั่นเป็นชิ้นเล็กให้เหมาะแก่การบริโภคของวัว
หลังจากนั้นจึงบรรจุลงในภาชนะหมักราดด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุกรรมด้วยเทคนิคพลาสมาพลังงานต่ำเป็นเวลา 7 วันจึงสามารถใช้เป็นอาหารโคได้
จากผลสำเร็จการขับเคลื่อนภายใต้ BCG Model อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้วิสาหกิจฯ ได้รับรางวัลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดีเด่น จากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ในปี 2565 รางวัลสาขานักธุรกิจนวัตกรรมจากการประกวด NSP Innovation awards 2022 จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2565
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนในอนาคต วิสาหกิจฯ มีแนวทางจะพัฒนาฟาร์มให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากขึ้น อาทิ ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในชุมชนให้มีความรู้และเครื่องมือในการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานอินทรีย์
และยังมีการดำเนินการพัฒนารูปแบบฟาร์มให้มีความยั่งยืนภายใต้โครงการโคกหนองนา โมเดล พันเพียร เคียงฝัน ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่โดยใช้หลักการเกษตรธรรมชาติ เพื่อสร้างความสมดุลของระบบนิเวศและส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร
หากท่านที่สนใจเข้าชมฟาร์มหรือศึกษาดูงานสามารถติดต่อได้ที่ ภูชิต มิ่งขวัญ ฝ่ายประสานงานวิสาหกิจ โทร. 09-1859-4560