‘ชัยนาท-สรรคบุรี’ไม่ธรรมดา ทริปค้นหาเมืองลูกหลวง-หน้าด่าน

‘ชัยนาท-สรรคบุรี’ – “ชัยนาท” ในความเห็นของคนทั่วไปมักมองว่าเป็นเมืองผ่าน เป็นเมืองเงียบๆ ไม่มีความน่าสนใจอะไร ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น “ชัยนาท” ในประวัติศาสตร์ นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองหน้าด่านมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

พื้นที่บริเวณที่ตั้งของจังหวัดชัยนาท จากคำอธิบายของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา ความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้ แบ่งออกเป็นสองตอน คือตั้งแต่ นครสวรรค์ ชัยนาท ลงมาถึงอ่างทอง เป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ส่วนจากอ่างทองถึงเพชรบุรี ชลบุรี เป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

‘ชัยนาท-สรรคบุรี’ไม่ธรรมดา ทริปค้นหาเมืองลูกหลวง-หน้าด่าน

พระบรมธาตุชัยนาท

จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่าการกระจายของ บ้านเมืองในปลายยุคเหล็กลงมา กระจายอยู่ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ตั้งแต่แรกเริ่มมาเลย แล้วค่อยมาไฮไลต์ที่ลพบุรี อยุธยา ตอนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาถึงชัยนาท จะแตกออกเป็นแพรกหลายแพรก มีทั้งลำน้ำใหญ่และลำน้ำเล็ก พอมาถึงพุทธศตวรรษ 19-20 เริ่มเกิดดอนขึ้นมา จึงทำให้เกิดเป็นบ้านเมืองขึ้นมาตามลำดับ

กระทั่งเริ่มเห็นชัดเจนตอนยุคทวารวดี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เรื่อยมาจนเข้าพุทธศตวรรษที่ 17-18 มีเรือนครัวกระจายอยู่แทบทุกลำน้ำ และเกิดเมืองรุ่นใหม่ขึ้นมา ไปยึดหัวหาดตามแม่น้ำสำคัญ เช่น เจ้าพระยา ป่าสัก ท่าจีน แม่น้ำน้อย และเมืองเริ่มใหญ่ขึ้น เป็นเมืองร่วมสมัยกับอยุธยา ละโว้ สุพรรณบุรี พอมาถึงชัยนาทแม่น้ำเจ้าพระยามีอีกลำมาแทรก คือแม่น้ำน้อย เริ่มแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วัดพระบรมธาตุ จึงทำให้เกิดเมืองบริเวณนี้ คือ เมืองแพรกศรีราชา

‘ชัยนาท-สรรคบุรี’ไม่ธรรมดา ทริปค้นหาเมืองลูกหลวง-หน้าด่าน

ปากน้ำมะขามเฒ่า

“เมืองนี้โดดเด่นมาก ร่วมสมัยกับสุพรรณบุรีและอโยธยา ถือว่าเป็นนครรัฐที่สำคัญ ซึ่งในตอนนั้นมีสามเมืองด้วยกัน ได้แก่ สุพรรณภูมิ แพรกศรีราชา และเมืองอโยธยา”

จังหวัดชัยนาทปัจจุบันมีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย ไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกอำเภอ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่าน อ.มโนรมย์ วัดสิงห์ เมืองชัยนาท และสรรพยา แม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำมะขามเฒ่า ไหลผ่าน อ.วัดสิงห์ และ อ.หันคา แม่น้ำน้อย ไหลผ่าน อ.สรรคบุรี

และยังมีคลองชลประทานผ่านพื้นที่ต่างๆ อีก ได้แก่ คลอง อนุศาสนนันท์ คลองมหาราช คลองพลเทพ เป็นต้น ล้วนเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการเกษตรกรรม

นอกจากเป็นพื้นที่ราบแล้วชัยนาทยังมีเนิน เขาเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป ที่สำคัญได้แก่ เขาธรรมามูล ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัด เขาพลอง เขาขยาย เขากระดี่ เขาใหญ่ เขารัก เขาดิน เขาหลัก เขาไก่ห้อย เขาสารพัดดี เขาราวเทียน เขาสรรพยา เขาพนมเกิน เขาน้อย และเขาแก้ว

การเกิดของเมืองชัยนาทในสมัยโบราณมีหลายข้อ สันนิษฐาน ในหนังสือประวัติ ศาสตร์มหาดไทยมีระบุว่า น่าจะปรากฏราวๆ ปีพ.ศ.1702 เมื่อมีการทำสงครามระหว่างกษัตริย์เมืองเมาและอาณาจักรโยนก เจ้าเมืองโยนกแพ้ศึกต้องอพยพผู้คนลงมาอยู่ที่เมืองแปป (กำแพงเพชรเดิม) แล้วมาสร้างเมืองไตรตรึงษ์ ที่ตำบลแพรกศรีราชา หลังจากนั้นคงจะสร้าง “เมืองชัยนาท” ขึ้น

‘ชัยนาท-สรรคบุรี’ไม่ธรรมดา ทริปค้นหาเมืองลูกหลวง-หน้าด่าน

หลวงพ่อฉาย วัดพระแก้ว

ขณะที่บางข้อสันนิษฐานบอกว่าน่าจะสร้างใน สมัยพญาเลอไทแห่งกรุงสุโขทัย ระหว่างพ.ศ.1860-1897 ซึ่งในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงปรากฏแต่ชื่อ “เมืองแพรก” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “เมืองแพรก” หรือ “เมืองสรรคบุรี” เมืองที่อยู่ใกล้ “เมืองชัยนาท” จนจะเรียกว่าเป็นเมืองเดียวกันก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานจากหนังสือชินกาลมาลี และตำนานพระพุทธ สิหิงค์ ที่กล่าวถึงเมืองชัยนาทภายใต้การปกครองของกรุงสุโขทัย และยังมีพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงชื่อ “เมืองชัยนาทบุรี” ปรากฏในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ตรงกับพ.ศ.1897 อย่างไรก็ตาม ในสมัยกรุงศรีอยุธยาราวรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีบันทึกกล่าวถึง “เมืองชัยนาทบุรี” ว่าได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองลูกหลวง

ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจเป็นข้อสันนิษฐานจาก หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ และลิลิตยวนพ่าย มีการระบุชื่อเมืองชัยนาท แต่ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้แสดงหลักฐานชี้ให้เห็นจนเป็นที่ยอมรับกันในวงการประวัติศาสตร์ไทย ว่าชื่อ “ชัยนาท”

หนังสือทั้งสองเล่มนี้เป็นอีกชื่อหนึ่งของ เมืองสองแคว หาใช่เมืองชัยนาทที่เป็นจังหวัดชัยนาทในปัจจุบันไม่ และมีหลักฐานเพิ่มขึ้นคือ ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ สุโขทัย กล่าวว่าเจ้าสามพระยาเคยเสด็จมาทำบุญที่เมืองสุโขทัยพร้อมกับพระมารดาและน้า เวลาที่เสด็จมาทำบุญที่สุโขทัยนั้นเป็นเวลาที่ทรงครองอยู่ที่เมืองชัยนาทใน ฐานะลูกหลวง การที่เจ้าสามพระยาทรงมีเชื้อสายทางราชวงศ์สุโขทัยด้วย จึงสมเหตุผลว่าทรงได้ครองเมืองชัยนาท ซึ่งคือเมืองที่พิษณุโลกหรือเมืองสองแควเดิมนั่นเอง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อครั้งไปปาฐกถาที่ อ.สรรคบุรี ปี 2510 สันนิษฐานว่าสาเหตุที่สถาปนาให้เมือง “ชัยนาทบุรี” เป็นเมืองลูกหลวงนั้น อาจเป็นเหตุผลทางทหารมากกว่าอย่างอื่น นับแต่สมัยที่สมเด็จพระอินทราชาขึ้นครองราชย์ อาจยังไม่ไว้วางใจราชอาณาจักรทางฝ่ายเหนือ ดังนั้น จึงทรงให้พระราชโอรส 3 พระองค์ ไปครองหัวเมืองรอบๆ กรุงศรีอยุธยา เพื่อคอยรับสถานการณ์ โดยให้เจ้าอ้ายไปครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่ไปครองเมืองสรรคบุรี และเจ้าสามพระยาไปครองเมืองชัยนาทบุรี

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังกล่าวไว้อีกว่า เมืองชัยนาทมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงนั้น แต่จะดำรงตำแหน่งสำคัญนี้นานเท่าไหร่ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ตามหลักฐานในพ.ร.บ. ศักดินาทหารหัวเมือง ซึ่งว่ากันว่าออกในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรฯ พ.ศ.2121-2136 เมืองชัยนาทได้ลดฐานะลงไปเป็นเมืองจัตวา ขณะที่ระบุถึงเมืองเอกมีอยู่เพียงสองเมือง คือเมืองพิษณุโลก ในภาคเหนือ และเมืองนครศรีธรรมราช ในภาคใต้ จึงนับว่าช่วงนี้เมืองชัยนาทได้ขาดความสำคัญด้านทหารและด้านเศรษฐกิจไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เมืองชัยนาทจึงค่อยๆ เล็กลง

มาในสมัยกรุงธนบุรี เมืองชัยนาทยังคงเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีกล่าวถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกทัพขึ้นมา ตั้งค่ายที่ “เมืองชัยนาท” เพื่อขับไล่พม่า ซึ่งกำลังรบติดพันกับกองทัพไทยที่เขตเมืองนครสวรรค์ กองทัพของพระเจ้าตากไล่ติดตามทัพพม่าและตีข้าศึกพ่ายไปในที่สุด

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ให้สร้างศาลากลางจังหวัดชัยนาทขึ้นที่ ต.บ้านกล้วย ต่อมารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงจัดตั้งการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ให้ยุบและรวมหัวเมืองทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือขึ้นไปจนถึงแม่น้ำ ปิง คือ เมืองชัยนาท สรรคบุรี เมืองมโนรมย์ เมืองพยุหคีรี เมืองนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพชร เมืองตาก รวม 8 หัวเมือง ขึ้นตรงต่อข้าหลวงเทศาภิบาลและตั้งที่ว่าการ “มณฑลนครสวรรค์”

ครั้นสมัยรัชกาลที่ 8 ไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเข้าร่วมกับญี่ปุ่น และยินยอมให้ญี่ปุ่นยกกองทัพผ่านประเทศไปยังพม่า และยอมให้ใช้ท่าเรือที่จังหวัดชัยนาทเป็นเส้นทางขนส่งเสบียงสัมภาระไปยังฐาน บินตาคลีนานถึง 4 ปีเศษ ขณะเดียวกันเมืองชัยนาทก็เป็นเขตปฏิบัติการของหน่วยก่อวินาศกรรมสังกัด ขบวนการเสรีไทยด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าเมืองชัยนาทตั้งอยู่ใน พื้นที่สำคัญบนลำน้ำถึงสามสาย จึงเป็นเมืองเก่าแก่ทางตอนเหนือของภาคกลาง และตั้งอยู่ระหว่างกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ยามใดที่กรุงสุโขทัยเรืองอำนาจก็จะยึดเอาเมืองชัยนาทเป็นเมืองหน้าด่าน แต่ยามใดที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรือง กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง “ชัยนาท” ก็จะกลายเป็นเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองที่ใช้สะสมเสบียงอาหารและอาวุธในการรบระหว่างไทยและพม่า เป็นสมรภูมิสงครามทุกยุคทุกสมัย

ดังนี้แล้วความน่าสนใจของ “เมืองชัยนาท” จะไม่ลงไปศึกษาหาความจริงได้อย่างไร

มติชน อคาเดมี จัดทริป “ชัยนาท-สรรคบุรี” เมืองโบราณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 15 ธันวาคม 2561

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล จะพาไปดู “วัดมหาธาตุ” ศูนย์กลางของเมืองแพรก และตั้งอยู่กลางเมือง ยอดเจดีย์ของพระธาตุองค์นี้ทลายลงไปตั้งนานแล้ว แม้รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ทอดพระเนตรก็ไม่มียอดแล้ว แต่วัดมหาธาตุแห่งนี้จะพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรเยอะมาก

จากนั้นไปดู “วัดพระแก้ว” ที่เจอทัพหลังเขมร วัดพระแก้วเมืองสรรค์เป็นกลุ่มเจดีย์ที่นิยมมากในซีกตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งเจดีย์แบบนี้เป็นเจดีย์ที่พัฒนามาจากสมัยทวารวดี

ผู้สนใจอย่ารอช้า ติดต่อร่วมทริปได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชน อคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand

หรือโทร. 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 มือถือ 08-2993-9097, 08-2993-9105 และไลน์ @matichonacademy

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน