เมื่อพูดถึงที่มาและประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึง “ชมพูทวีป” ซึ่งประกอบด้วยดินแดนที่กลายเป็นประเทศอินเดีย เนปาล และศรีลังกาในปัจจุบัน

แต่คนไทยจำนวนมากอาจจะยังไม่ทราบว่า “ปากีสถาน” ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นรัฐอิสลามอย่างทางการ ก็มีบทบาทที่สำคัญในวิวัฒนาการของพระพุทธศาสนาในโลกเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับนิกาย “มหายาน” ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ตลอดจนสถาปัตยกรรมสถูป และพุทธศิลป์หลายแขนง ก็ล้วนมีที่มาจากปากีสถานทั้งสิ้น

ยกตัวอย่าง ชื่อที่คนไทยคุ้นเคยกันอย่าง “ตักษิลา” และ “พระเจ้ามิลินท์” ก็อยู่ในปากีสถาน แม้แต่เรื่องราวของ “ซวนชาง” พระชาวจีนที่เดินทาง 16 ปีตามหาพระไตรปิฎกกลับไปเผยแพร่ที่แผ่นดิน ซึ่งเป็นที่มาของตำนาน “พระถังซำจั๋ง” ก็มีปลายทางอยู่ที่ปากีสถาน

เพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างชาวพุทธในไทยกับประเทศปากีสถาน สถานทูตปากีสถานและสยามสมาคมจึงร่วมจัดงานเสวนาขึ้นเมื่อเร๋็วๆนี้ โดยมีนักโบราณคดีชื่อดังของปากีสถาน 2 ท่าน ร่วมบรรยายให้เห็นถึงความสำคัญในฐานะเป็นบ่อเกิดอารยธรรมพุทธศาสนาในปากีสถาน โดยเฉพาะในพื้นที่แถบหุบเขาสวัต (Swat Valley) ที่เคยเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมในสมัยโบราณ

อ. Adnan Aurangzeb

โดยอาจารย์ Adnan Aurangzeb ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ อธิบายว่าดินแดนสวัตนั้นเป็นทางผ่านสำคัญระหว่างหลายอารยธรรม โดยอยู่บนเส้นทางสายไหมที่เชื่อมต่อจีนสมัยราชวงศ์หั้นกับอารยธรรมกรีก และจักรวรรดิโรมัน

เมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กรีฑาทัพจากดินแดนกรีกโบราณมาถึงเอเชีย ก็เคยผนวกหุบเขาสวัตเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิด้วยเช่นกัน ก่อนจะตกเป็นของชนเผ่าและราชวงศ์อื่นๆอีกหลายครั้ง

ดังนั้น เมื่ออาณาจักรในแถบนี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ก็ผสมผสานศรัทธาของตนกับอารยธรรมและวัฒนธรรมต่างๆ เห็นได้จากพระพุทธรูปสไตล์กรีก, ภาพปูนปั้นตำนานชาดก, เจดีย์และสถูป ต่างๆและที่สำคัญที่สุดคือแนวคิดเรื่อง “พุทธมหายาน”

ต่อมา ความเชื่อนิกายมหายานก็แพร่จากปากีสถาน ไปยังจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังที่เราเห็นกันทุกวันนี้นั่่นเอง

พระพุทธรูปสไตล์กรีกโบราณ พบในหุบเขาสวัต ประเทศปากีสถาน

อ. Adnan ตั้งข้อสังเกตว่า ที่น่าสนใจคือ แม้ในปัจจุบัน ชาวพุทธมีไม่ถึง 2,000 คนในปากีสถาน และมีวัดพุทธที่ยังเปิดทำการเพียงแห่งเดียว แต่รัฐบาลปากีสถานยังอนุรักษ์โบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเหล่านี้ไว้อย่างดี

เมื่อถามว่า แล้วกลัวกลุ่มตาลิบันในปากีสถานจะทำลายศาสนสถานชาวพุทธ อ. Adnan ตอบว่าตาลิบันปากีสถานไม่ได้มีอุดมการณ์ทำลายวัตถุหรือสถานที่ทางศาสนาแบบตาลิบันในประเทศอื่น เพราะมีจุดมุ่งหมายในการยึดที่ดินและปฏิบัติการสู้กับรัฐบาลมากกว่า

“โบราณวัตถุและสิ่งมีค่าทางประวัติศาสตร์นำไปเก็บในพิพิธภัณฑ์หมดแล้ว แล้วตาลิบันจะได้อะไรจากการทำลายก้อนอิฐล่ะครับ?” อ. Adnan ตั้งคำถามอย่างน่าสนใจ

ทางด้านศาสตราจารย์ Muhammad Ashraf Khan กล่าวเสริมว่า ถ้าหากพิจารณาสถาปัตยกรรมของชาวพุทธในไทย ตลอดจนความเชื่อเรื่องนิทานชาดกและรอยพระพุทธบาท จะเห็นว่าก็ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธในปากีสถานสมัยโบราณเช่นกัน

ดังนั้น ทั้งไทยและปากีสถาน ถึงแม้จะมีระยะห่างกัน และไม่ได้มีความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์โดยตรง แต่ก็มีความเป็นมาทางวัฒนธรรมร่วมกันเป็นพันปีแล้ว

ศจ. Muhammad Ashraf Khan

แม้แต่ในระบบการศึกษาของปากีสถาน ก็มีการสอนเรื่องบทบาทของปากีสถานในฐานะบ่อเกิดที่สำคัญของอารยธรรมพุทธศาสนาด้วย ดังนั้น จึงอยากให้ชาวพุทธในไทยและผู้สนใจประวัติศาสตร์ เดินทางมาแสวงบุญและเยี่ยมชมโบราณสถานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาด้วยตนเอง

“เรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างมาก เราละเลยไม่ได้” ศจ. Khan กล่าว “เรามีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย เราอยากเห็นคนไทยมาเที่ยว”

อาจารย์ท่านนี้ยังกล่าวเสริมอีกว่า “โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ถ้าพวกเขามาเยี่่ยมชม ก็จะได้เห็นความเป็นมาร่วมกันระหว่างสองประเทศ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว”

สถูปพระพุทธศาสนาในหุบเขาสวัต ปากีสถาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน