ปิดตำนาน‘บ้านเสานัก’ สถาปัตย์เด่นในลำปาง“บ้านเสานัก” เป็นบ้านที่มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมากหลังหนึ่งใน จ.ลำปาง จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านศิลปวัฒนธรรม ของจังหวัด เก็บรวบรวมเครื่องใช้โบราณ รูปภาพ ภายในบริเวณบ้านเสานักยังมี ถุข้าว (ยุ้งข้าว) เสาหลาย และต้นสารภีอายุ 130 ปี ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมไม่ขาดสาย

ล่าสุด ได้ติดป้ายประกาศขาย บริเวณประตูรั้วหน้าบ้านว่า “ขายบ้านหลังนี้ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 1 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา ไม่มีนายหน้า ติดต่อตรงที่นายทวีบุตราช เบอร์โทรศัพท์ 09-8919-3123”

จากการสอบถามผู้ดูแลบ้าน เปิดเผยว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 มาต่อเนื่อง ส่งผลให้บ้านเสานักต้องปิดให้เข้าชมบริเวณเรือนโบราณบ้านเสานักตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงขณะนี้ กระทั่งเจ้าของบ้านได้ปิดให้บริการเข้าชมบ้านอย่างเป็นทางการ เนื่องจากบ้านมีความทรุดโทรมอย่างมาก

ก่อนหน้านี้ทางเจ้าของได้พยายามซ่อมแซมบ้านมาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าการซ่อมแซมบ้านโบราณต้องใช้งบประมาณสูง โดยเฉพาะหลังคาที่ทรุดโทรมมากขณะนี้ยังคงซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ และผู้ดูแลได้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยภายในบ้านแล้ว จึงจำเป็นต้องปิดให้บริการเข้าชมอย่างเป็นทางการ

สำหรับประวัติ “บ้านเสานัก” เป็นบ้านที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านเมืองเก่าท่ามะโอ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2438 โดยคหบดีพ่อค้าชื่อ “หม่องจันโอง” ที่เป็นชาวพม่า (ต้นตระกูล จันทรวิโรจน์) จึงทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างศิลปะพม่าและล้านนาขึ้นอย่างละเมียดละไม โดยหลังคาและโครงสร้างเป็นแบบล้านนา ส่วน พาไลย์ (ระเบียง) รอบบ้านแสดงความเป็นพม่า และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น

บ้านเสานัก มีชื่อที่แปลเป็นภาษาไทยภาคกลางจะหมายความว่า บ้านเสามาก ซึ่งชื่อนี้เป็นชื่อที่ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ตั้งให้ เพราะเป็นบ้านเรือนไม้สักที่มีเสาจำนวนมากถึง 116 ต้นอายุรวม 124 ปี มีต้นสารภีเคียงคู่ ว่ากันว่าต้นสารภีต้นนี้เกิดก่อนจะมีการสร้างบ้าน 30 ปี ความสวยงามทำให้เป็นบ้านไม้สัก ทรงไทยที่มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ความโดดเด่นของบ้านเสานักแห่งนี้ มาจากจำนวนเสาบ้าน ที่มีมากถึง 116 ต้น ซึ่งจำนวนเสาทั้ง 116 ต้นนี้ หากนำมาเชื่อมโยงกับความเชื่อล้านนาตามตำราจัดเสาเรือน จำนวนเสา ของบ้านเสานัก จะตกที่เสา 8 ต้น บุญเรืองก้ำฟ้า ดี (บุญเรือง ค้ำฟ้า ดี) ซึ่งมีความหมายว่า ความดีอันรุ่งเรืองยาวนานจนไม่มีกำหนด

ต่อมาบ้านเสานักตกทอดมาถึงสมัยของคุณหญิงวลัย ลีลานุช อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนลำปางกัลยาณี ซึ่งเป็นหลานตาของหม่องจันโอง ท่านได้ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเสานักเพื่อเป็นที่อยู่ให้ เหมาะสมกับยุคสมัย โดยต้องการอนุรักษ์บ้านให้อยู่ในสภาพคงเดิมให้มากที่สุด

ภายหลังจากที่คุณหญิงวลัยถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2535 บ้านเสานักจึงไม่มีผู้อาศัยอยู่ คุณพิม ไวยวุฒิ ชิวารักษ์ (ทายาทรุ่นที่ 5) หลานสาวคนเดียว ได้สืบทอดเจตนารมณ์ โดยดูแลบ้านเสานัก ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้สนใจ พร้อมทั้งการจัดบริการรับรองนักท่องเที่ยวด้านการจัดเลี้ยง งานเลี้ยงขันโตก จัดนิทรรศการงานพิธีมงคลแบบล้านนา และการแสดงพื้นเมืองในโอกาสต่างๆ

ลักษณะที่โดดเด่นของบ้านเสานัก ทำให้อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังได้มาศึกษาและถ่ายภาพนำไปอ้างอิงเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ล้านนา

บ้านแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ดูงานของนักศึกษาสถาปัตยกรรม จากหลายสถาบัน จนทำให้ชื่อเสียงของบ้านเสานักเป็นที่รู้จักในหมู่สถาปนิก และนักออกแบบไปทั่วประเทศ

กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2539 สยามสมาคมได้นำเสนอเรื่องรูปแบบและความเก่าของบ้านเสานัก สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตรสนิยม แบบแผนประเพณีพื้นเมืองของชาวลำปางเป็นอย่างดี

ในปี พ.ศ.2548 บ้านเสานักได้รับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ คัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ “รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทเคหสถานบ้านเรือนเอกชน”

บ้านเสานักจึงเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งนัก

ภูษณิศา สัญญารักษกุล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน