วันที่ 24 พ.ย. นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี กล่าวว่า วันที่ 25 พ.ย.-10 ธ.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันสากลแห่งการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง แต่ขณะนี้ปัญหาความรุนแรงยังไม่มีแนวโน้มลดลง สถิติตัวเลขผู้หญิงที่เป็นผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศซึ่งไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ มีจำนวนน้อยกว่าตัวเลขของผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงที่เข้ารับการรักษาพยาบาลทั้งร่างกายและจิตใจจากสถานพยาบาลต่างๆ ทำให้เห็นว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการฟื้นฟูเยียวยา

แม้ปัจจุบันมีการปรับปรุงกฎหมายสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 ซึ่งมีความคลุมเครือและไม่ครอบคลุมบุคคลทุกคนในครอบครัว อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการยอมความได้ทุกขั้นตอน โดยให้บทบาทผู้ประนีประนอมในศาลในการทำข้อตกลงและให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการยกเลิกการดำเนินคดี มากกว่าที่จะรับฟังความต้องการของผู้เสียหายเป็นลำดับแรก

นางอังคณา กล่าวอีกว่า ปัญหาต่างๆ เช่น จำนวนพนักงานสอบสวนหญิงยังมีน้อย บางส่วนไม่มีความรู้ความเข้าใจและความเชี่ยวชาญอย่างเพียงพอเกี่ยวกับความละเอียดอ่อนทางเพศ และแม้มีการแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ สามารถร้องขอให้มีผู้อยู่ร่วมด้วยในระหว่างการสอบสวน ให้มีสถานที่ที่เหมาะสมและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เสียหายในการชี้ตัวผู้ต้องหา อีกทั้งให้มีการสืบพยานโดยไม่เผชิญหน้าจำเลยได้ แต่ยังคงมีอุปสรรค เพราะผู้เสียหายต้องเป็นฝ่ายร้องขอ ทำให้ผู้หญิงที่ไม่รู้กฎหมายไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางกฎหมายได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น พบว่าผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ เช่น หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ หญิงพิการ หญิงในฐานะผู้อพยพและผู้ลี้ภัย หญิงทำงานบ้าน หรือหญิงข้ามเพศ รวมถึงผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องเผชิญกับความรุนแรงซ้ำซ้อนจากทัศนคติ ค่านิยม และวัฒนธรรมทางสังคม

“การข่มขืนและปัญหาผู้กระทำผิดลอยนวล ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ล่าสุดมีรายงานการฉุด การลักพาตัวนักศึกษาหญิงไปข่มขืนและทำอนาจาร โดยไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ การข่มขืนสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้เสียหายและครอบครัวมาก นอกจากทำให้เกิดความอับอายแล้ว การข่มขืนยังทำให้ผู้หญิงรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์ และคุณค่าของตนเอง ผู้เสียหายหลายคนมีปัญหาซึมเศร้า และไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ” นางอังคณา กล่าว

ดังนั้นกสม. จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ว่า 1.ควรเพิ่มมาตรการในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความละเอียดอ่อนทางเพศ การเคารพในความเสมอภาคระหว่างเพศ และสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง 2.ให้มีหลักประกันในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงและเด็กหญิง 3.เร่งรัดให้หน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 เรื่องการป้องกันและแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เคร่งครัด ครบถ้วน เป็นธรรม และ 4.รับประกันในการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน