ทนายความคดีวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส แฉเบื้องหลังที่ทำให้ภาพจากกล้องวงจรปิดหายไป โดยระบุว่าในชั้นสอบสวนร้อยโท รายหนึ่งรับว่านายสั่งให้ถอดฮาร์ดดิสก์วันเกิดเหตุออกแล้วนำอันใหม่ใส่เข้าไป

หลังศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีคำสั่งคดีไต่สวนการตาย ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตที่ด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.60 ที่ผ่านมา โดยศาลมีคำสั่งชี้ว่า ผู้ตายคือ นายชัยภูมิ ถูกยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร และเสียชีวิตบริเวณด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ รวมทั้งพูดถึงบาดแผลที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ส่วนเรื่องข้อโต้แย้งของญาติที่ไม่เชื่อว่าชัยภูมิมียาเสพติดไว้ในครอบครอง และไม่เชื่อว่าชัยภูมิใช้มีดและระเบิดเพื่อจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ ศาลไม่ได้มีคำวินิจฉัยให้ เนื่องจากเห็นว่าคำร้องของการไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายอาญาถือว่าเป็นที่สุด หากมีผลคำสั่งจะมีผลต่อรูปคดีหรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ศาลจึงไม่วินิจฉัยเรื่องนี้ให้

หลังศาลมีคำสั่งทีมทนายความ และญาติ ออกมาระบุว่าจะเรียกร้องให้กองทัพเปิดภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อความกระจ่างในเรื่องที่เกิดขึ้นว่าความจริงแล้ว ชัยภูมิ พยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยการใช้มีด และระเบิดจริงหรือไม่ จนนำไปสู่การถูกทหารยิง

ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ทางญาติผู้ตายเรียกร้องให้ทางกองทัพบก ซึ่งเป็นต้นสังกันของกองทัพภาคที่ 3 เปิดวงจรปิดวันเกิดเหตุนั้น เรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้ เป็นสำนวนในส่วนของพยานหลักฐานในคดี และคดียังไม่ถึงที่สุด

อ่าน ศาลชี้ทหารยิง “ชัยภูมิ ป่าแส” เสียชีวิต ด้านญาติลุยจี้กองทัพเปิดภาพวงจรปิด

อ่าน ทหารยันไม่เปิดภาพนาทียิง “ชัยภูมิ ป่าแส” อ้างคดียังไม่จบ ญาติข้องใจทำไมดูไม่ได้

โดยกรณีภาพจากกล้องวงจรปิดนั้น นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความในคดี ให้ความเห็นไว้ในงานเสวนา”วิสามัญมรณะ” ที่เครือข่ายติดตามความคืบหน้ากรณีวิสามัญชัยภูมิ ป่าแส จัดขึ้นเพื่อร่วมทบทวนทวงถามความยุติธรรมใน”วงจร (เ)ปิด : 1 ปีชี้การตายชัยภูมิ” เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ ลานตั้งนโม (บริเวณหอศิลป์ฯ-มีเดียอาร์ต) ม.เชียงใหม่ ว่า ที่ด่านรินหลวงมีกล้องวงจรปิด 9 ตัว และมีถึง 6 ตัวที่หันเข้าหาจุดที่มีการค้นรถของชัยภูมิ ก่อนที่จะวิสามัญ โดยมีบันทึกในชั้นสอบสวนมีร้อยโท รายหนึ่งได้รับคำสั่งจากนายให้ถอดฮาร์ดดิสก์ออกจากกล้องวงจรปิด และเอาฮาร์ดดิสก์อันใหม่ไปใส่แทน ก่อนที่จะนำมาส่งให้พนักงานสอบสวน ซึ่งร้อยโทคนดังกล่าวระบุในคำให้การว่าก่อนถอดฮาร์ดดิสก์ออกพบว่ามีภาพเหตุการณ์ปรากฎอยู่ด้วย

ทนายสุมิตรชัย กล่าวต่อว่า ต่อมาทหารนำฮาร์ดดิสก์ส่งต่อให้พนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงนำส่งต่อให้กับกองพิสูจน์หลักฐานโดยไม่ได้เปิดดู ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานพบในฮาร์ดดิสก์มีภาพอยู่ระหว่างวันที่ 20-25 มี.ค.60 โดยไม่พบภาพที่บันทึกในวันเกิดเหตุ ที่สำคัญคือพบว่ามีการดรอปไฟล์ ด้วยการคัดสำเนาภาพจากฮาร์ดดิสก์ออกไปเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ออกไป ซึ่งเป็นไฟล์เมื่อวันที่ 17 มี.ค. พร้อมระบุช่วงเวลาชัดเจนคือในช่วงที่เกิดเหตุ มีความยาวประมาณ 10 นาที ซึ่งก่อนหน้านี้มีทีวีช่องหนึ่งพยายามขออนุญาตให้เปิดข้อมูลจากกล้องวงจรปิดจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร และคณะกรรมข้อมูลข่าวสารมีความเห็นให้สามารถเปิดเผยภาพต่อสาธารณะได้ แต่ภาพนั้นไม่มีอยู่แล้วจึงไม่สามารถเปิดเผยได้

“กองพิสูจน์หลักฐานยืนยันว่าเครื่องฮาร์ดดิสก์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งมาสามารถใช้งานได้ปกติ ไม่ได้เสียแต่อย่างใด ทว่าภาพวันเกิดเหตุกลับหายไปจากฮาร์ดดิสก์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามอีกว่าภาพหายไปได้อย่างไร แม้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานไม่ได้บอกว่าภาพหาย เพียงแค่บอกว่าไม่พบภาพเหตุการณ์ จึงน่าสงสัยว่าไม่มีภาพเหตุการณ์ก่อนที่จะส่งไปที่กองพิสูจน์หลักฐานหรือไม่”

ทั้งนี้ นายสุมิตรชัย เคยให้สัมภาษณ์ข่าวสด ก่อนหน้านี้ว่า ทำไมทหารที่เป็นคู่กรณีสามารถดูภาพในกล้องวงจรปิดได้ แต่แม่ผู้ตายที่เป็นผู้เสียหายกลับถึงไม่ได้ดู แล้วเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเขาผิดจริงไหม และหากพนักงานสอบสวนไม่อนุญาติให้ดูก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าเพราะอะไร เพราะที่ผ่านมามีการเปิดภาพจากกล้องวงจรปิดในหลายคดี และทำเป็นเหมือนเรื่องปกติไปแล้ว และหากภาพในกล้องวงจรปิดมีอยู่จริง จะเปิดก่อนหรือหลังก็คงไม่ต่างกัน และถ้าคิดว่าเจ้าหน้าที่ทหารปฎิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง การเปิดภาพจากกล้องที่มีอยู่ในจุดเกิดเหตุประมาณ 5-6 ตัว น่าจะทำให้สามารถอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งกล้องในที่เกิดเหตุก็เป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถนำมาเผยแพร่ได้ และกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามที่จะเปิดภาพจากกล้องวงจรปิดแต่อย่างใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน