ศาลฎีกายกฟ้อง “กะเหรี่ยงบ้านป่าผาก” คดีโลกร้อน ชี้กรมอุทยานฯใช้งานวิจัยเก่า

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมสั่งยกค่าเสียหายในการคิดแบบคดีโลกร้อน ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯฟ้องชาวกะเหรี่ยง ชี้กรมอุทยานแห่งชาติฯใช้งานวิจัยเก่า ไม่ได้เก็บข้อมูลจากพื้นที่เกิดเหตุจริง และเชื่อว่าป่าสามารถกลับมาฟื้นฟูด้วยตนเองได้

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอมรเทพ ศุภกรสกุล นางมะลิ งามยิ่ง และนางมะและหยิ่ง งามยิ่ง ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เข้าไปหยอดปลูกข้าวไร่เป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่า อันเป็นการทำลายป่า ทำให้เสื่อมสภาพทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งนี้ค่าเสียหายที่กรมอุทยานแห่งชาติฯเรียกร้องต่อศาลฎีกาซึ่งเรียกกันว่าคดีโลกร้อนได้แก่ มูลค่าเนื้อไม้และความเพิ่มพูนไร่ละ 60,024 บาทต่อปี มูลค่าของป่าไร่ละ 232.25 บาทต่อปี มูลค่าของธาตุอาหารในดินไร่ละ 767.97 บาทต่อปี การปลูกป่าและทำนุบำรุงป่าไร่ละ 7,220 บาทต่อปี และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 310,474.12 บาท

ป่าฟื้นตามธรรมชาติเป็นป่าสมบูรณ์เมื่อ12 ส.ค. 2559

ป่าฟื้นตามธรรมชาติเป็นป่าสมบูรณ์เมื่อ12 ส.ค. 2559

ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อมเห็นว่า เป็นหน้าที่ของโจทก์(กรมอุทยานแห่งชาติฯ) ต้องนำสืบถึงความเสียหายตามจำนวนเงินที่ฟ้อง โดยสำรวจและเก็บข้อมูลทั้งไม้และดินจากป่าที่เกิดเหตุ การใช้แบบจำลองค่าเสียหายที่ไม่ตรงกับสภาพป่า การไม่เก็บข้อมูลทั้งไม้และดิน และการอ้างงานวิจัยตั้งแต่ปี 2519 และ 2535 เป็นงานวิจัยเก่า เนื่องจากคดีเกิดปี 2548 ซึ่งหลังจากงานวิจัยหลายปี ดังนั้นพยานหลักฐานของโจทก์(กรมอุทยานแห่งชาติฯ)จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ป่าที่เกิดเหตุเสียหายตามฟ้อง ประกอบกับนายสุรพงษ์ กองจันทึก จากศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าสำรวจที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2559 พบว่า ขณะที่เข้าไปสำรวจป่ามีสภาพสมบูรณ์แล้ว

ชาวบ้านกะเหรี่ยงจำเลยทั้ง 3 คน

ชาวบ้านกะเหรี่ยงจำเลยทั้ง 3 คน

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษา และให้ยกฎีกาของโจทก์(กรมอุทยานแห่งชาติฯ) เนื่องจากฟังไม่ขึ้น ซึ่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2560 มีว่า “อุปกรณ์ในการกระทำผิดที่ยึดได้มีเพียง มีด 2 เล่ม ไม้สำหรับหยอดข้าว 1 อัน แสดงว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ร้ายแรงมากนัก และพื้นที่ซึ่งถูกบุกรุกก็มีเพียง 3 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมชดใช้แก่โจทก์เป็นเงิน 37,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดนั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว”

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า หมู่บ้านป่าผากที่ชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นจำเลยทั้งสามคนอาศัยอยู่ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ตั้งมาหลายร้อยปีแล้ว จำเลยทั้งสามก็เกิดและอาศัยทำกินในพื้นที่นี้ตลอดมา พื้นที่พิพาทเป็นไร่หมุนเวียนดั้งเดิมของชุมชน ชาวบ้านทั้งสามเข้าไปปลูกข้าวไร่ไว้รับประทานเองตามวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นไร่หมุนเวียนใช้พื้นที่เพียง 3 ไร่

“ตนเข้าไปดูพื้นที่เกิดเหตุในปี 2559 ซึ่งหลังจากเหตุเกิด 11 ปี พบว่าป่าได้ฟื้นสภาพตามธรรมชาติเป็นป่าสมบูรณ์ ไม่พบร่องรอยความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติแต่อย่างใด เป็นการยืนยันว่าไร่หมุนเวียนเป็นการรักษาป่าและสภาพแวดล้อม ซึ่งมีการศึกษาวิจัยรองรับจำนวนมาก จนกระทรวงวัฒนธรรมประกาศให้ไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในปี 2546” นายสุรพงษ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน