สาธารณสุขห่วง ‘ไวรัสตับอักเสบบี-ซี’ ก่อมะเร็งตับพุ่ง! ย้ำยังมีอีกกว่า 1 ล้านคนป่วยแต่ไม่รู้ตัว อยู่นอกระบบการรักษา เร่งค้นหา พร้อมจัดบริการตรวจหาเชื้อไวรัสฯ ฟรี! 83 รพ.ทั่วประเทศ

สธ.ห่วง / วันที่ 23 ก.ค. ที่กรมควบคุมโรค(คร.) นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ” ว่า โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย โดยทั่วไปไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด ได้แก่ ชนิด เอ บี ซี ดี และอี

แต่ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในไทย คือ ไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งคาดว่าในไทยจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2-3 ล้านราย ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังประมาณ 300,000-700,000 ราย ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ลดการป่วยตาย และลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับผ่านมาตรการต่างๆ อย่างบูรณาการ

“สำหรับสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก ประจำปี 2561 นี้ คำขวัญ คือ “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ” และขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม 2561 ณ โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 83 แห่ง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นพ.สมบัติ กล่าว

แถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ”

รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 5-8 และไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 1-2 พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)และภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยยังมีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่อยู่นอกระบบอีกกว่า 1 ล้านคน

สาเหตุเพราะกลุ่มเหล่านี้ไม่แสดงอาการ ซึ่งพวกเขาก็ไม่รู้ตัว ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดนโยบายให้ทุกประเทศในโลกร่วมมือกันกำจัดไวรัสให้หมดไปในปี 2573 จึงจำเป็นต้องจัดระบบค้นหาด้วยการตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้น เนื่องจากไวรัสตับอักเสบเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับได้

ซึ่งปัจจุบันอัตราตายสูงสุดของประเทศไทย คือ มะเร็ง ในเพศชายมะเร็งตับพบเป็นอันดับที่ 1 เพศหญิงพบเป็นอันดับที่ 3 แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมะเร็งตับมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของทั้งหญิงและชาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะเหตุใดจึงประมาณการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีก 1 ล้านคนที่ไม่ทราบว่าตัวเองป่วยและยังอยู่นอกระบบรักษา รศ.พญ.วัฒนา กล่าวว่า ตนทำงานด้านนี้และลงพื้นที่ทางภาคอีสานมาประมาณ 10 ปีที่แล้ว

และพบว่า คนอีสานเดินมา 10 คน จะพบ 1 คนมีเชื้อไวรัสตับอักเสบไม่กลุ่มซี ก็บี ซึ่งเมื่อมีการคาดการณ์กับตัวเลขของแต่ละภาค ซึ่งภาคอีสานพบมากก็ทำให้เชื่อว่าในภาพรวมทั้งประเทศจะมีคนที่ไม่รู้ตัวเองว่าติดเชื้ออีกประมาณ 1 ล้านคน

รศ.พญ.วัฒนา กล่าวอีกว่า โดยหลายคนไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นที่ต้องคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วย 1.คนที่ติดเชื้ออยู่แล้ว ที่มีญาติหรือคนในครอบครัวที่ใกล้ชิด สามารถบอกเขาให้มาตรวจเชื้อได้ 2.กลุ่มที่ได้รับเลือด ซึ่งมาจากการรับบริการก่อนปี 2535 เนื่องจากสภากาชาดไทยมีการจัดระบบการตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นไป

3.กลุ่มที่มีการสัก เจาะที่อาจมีการปนเปื้อนเลือดก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง 4.กลุ่มผู้ที่ใช้สารเสพติด คนที่อยู่ในคุก และ 5.กลุ่มที่มีประวัติครอบครัวป่วยโรคมะเร็งตับ หรือตับอักเสบหรือมีภาวะตัวเหลือง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ไปตรวจสุขภาพแล้วพบตับอักเสบ ต้องรีบรักษา ส่วนคนตั้งครรภ์ก็ต้องตรวจด้วยเช่นกัน

“เมื่อทราบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง จะได้เข้าสู่ขบวนการรักษา ซึ่งรัฐบาลให้การรักษาฟรีทุกกองทุน หากทุกคนตระหนักและคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ถ้าติดเชื้อก็เข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยก็สามารถจะเดินไปถึงการกำจัดไวรัสตับอักเสบให้สิ้นซากได้ในอีก 12 ปีข้างหน้า” รศ.พญ.วัฒนา กล่าว

ด้าน ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 นี้ สปสช. ได้กำหนดสิทธิประโยชน์และดำเนินการจัดหายาเพิ่มเติม สำหรับให้บริการผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มขึ้นอีก 2 สูตร คือ 1. ยาเม็ดโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) 400 mg เพื่อใช้

ร่วมกับยาฉีดยาฉีดเพกอินเตอร์เฟอรอน (Peginterferon) และยาเม็ดรับประทานไรบาไวริน (Ribavirin) สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์ที่ 3 และ 2. ยาเม็ดสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์ 400 มิลลิกรัม และเลดิพาสเวียร์(Ledipasvir) 90 มิลลิกรัม สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์อื่นทั้งที่มีหรือไม่มีภาวะตับแข็งร่วมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายในงาน นายวัชรศักดิ์ วิจิตรจันทร์ เจ้าหน้าที่แผนและนโยบาย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอให้มีการปรับเกณฑ์การใช้ยาของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ พร้อมกล่าวว่า ปัจจุบันตัวยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีในระบบหลักประกันสุขภาพมีตัวยา โซฟอสบูเวียและเลดิพาสเวียร์ สำหรับรักษาในจีโนไทป์ที่ 1,2,4,5,6 และเพคอินเตอเฟอรอน โซฟอสบูเวียร์ ไรบาไวริน

สำหรับรักษาจีโนไทป์ที่ 3 แต่ทั้งหมดนี้ได้บรรจุในบัญชียา จ (2) ที่มีเงี่อนไขและแนวทางกำกับที่ชัดเจน โดยเฉพาะการระบุ ว่า รพ.ที่จะทำการวินิจฉัยโรคต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีใบรับรองหรือมีประสบการณ์ด้านทางเดินอาหารไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งในความเป็นจริง รพ. ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ รพ.ในท้องถิ่นทีจำนวนแพทย์ดังกล่าวไม่เพียงพอ หากผู้ป่วยต้องการตรวจวินิจฉัยไวรัสตับอักเสพซีในแต่ละครั้งต้องเดินทางข้ามจังหวัดเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในระบบการรักษา เนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายและการเดินทาง

รศ.พญ.วัฒนา กล่าวว่า จริงๆเรื่องนี้ทั้งฝ่ายวิชาการและทางภาครัฐก็ทราบเรื่องดี ซึ่งกำลังเตรียมนำยาที่สามารถรักษาได้ทุกสายพันธุ์เข้ามา ซึ่งอยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา(อย.) และกำลังหาข้อมูลทางวิชาการมารองรับในเรื่องการตรวจคัดกรองที่ลดราคาลง แต่สามารถตรวจได้ไม่แพ้ของเดิม ทั้งนี้ ไม่ได้นิ่งนอนใจ อยู่ระหว่างดำเนินการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน