สื่อลาวแฉ 3 ปี เขื่อนแตก 3 แห่ง ทำประชาชนหวั่นไม่ปลอดภัย จี้หาคนรับผิดชอบ

 

สื่อลาวแฉ / เฟซบุ๊ก หยุด เขื่อนไซยะบุรี(stop Xayaburi Dam) นำข้อมูลจากเว็บไซต์ idsala มาเผยแพร่ หลังเกิดเหตุการณ์เขื่อนแตกที่ประเทศลาว จนเป็นเหตุทำให้มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ความว่า

ชาวบ้านหนีตายขึ้นหลังคา

3 ปี เขื่อนแตก 3 แห่ง สะเทือนความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อเขื่อนที่มีอยู่และกำลังก่อสร้าง

เว็บไซด์ idsala รายงาน กรณีกระแสในสังคมออนไลน์ต่อเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เมืองปากซอง แขวงจำปาสักแตก ทำให้ปริมาณน้ำมหาศาลไหลออกจากเขื่อน ไหลเข้าท่วมเมืองสนามไซย แขวงอัตตะปือ ส่งผลกระทบต่อชีวิตทรัพย์สิน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนัก

น้ำท่วมในหลายพื้นที่

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำเชื่อมต่อกันจากหมากจัน ลงสู่เขื่อนเซเปียน และจากเขื่อนเซเปียนลงสู่เขื่อนเซน้ำน้อย อ่างเก็บน้ำของเขื่อนเซน้ำน้อย มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบเขื่อนดังกล่าว ด้วยเนื้อที่ 552 ตารางกิโลเมตร แต่สันเขื่อนที่แตก ไม่ใช่สันกั้นอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย

โครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2013 และคาดว่าจะเสร็จในปี 2019 มีกำลังการผลิต 410 เมกะวัตต์ มีเจ้าของโครงการคือ บริษัทไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ภายใต้การร่วมทุนของบริษัท SK Engineering and Construction(SK E) ถือหุ้น 26 %

บริษัท Korea Western Power (KOWEPO) ถือหุ้น 25 % บริษัท Generating Holding Public (RATCH) ถือหุ้น 25% และบริษัท รัฐวิสาหะกิจหุ้นลาว (LHSE) ถือหุ้น 24% มูลค่าโครงการกว่า 1,020 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

มวลน้ำมหาศาลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว

เมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2560 ที่ผ่านมา เขื่อนน้ำอ้าว เมืองผาไซ แขวงเซียงขวาง ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 15 เมกะวัตต์ แตก ทำให้น้ำท่วมเมืองท่าโทม แขวงไซยสมบูน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างเช่นกัน เขื่อนดังกล่าวดำเนินการโดยบริษัทบ่อทองอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งเขื่อนแตกในช่วงที่ก่อสร้างได้ 80%

และก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2559 เกิดเหตุอุโมงค์ไฟฟ้าของเขื่อนเซกะมาน 3 แตก ทำให้น้ำไหลอย่างรุนแรงที่บ้านดายรัง เมืองดากจัง แขวงเซกอง โดยเขื่อนเซะกมาน 3 มีกำลังการผลิต 250 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่เมืองดากจิง แขวงเซกอง ดำเนินการโดยบริษัท Songda ของเวียดนามเป็นผู้ก่อสร้าง โดยเขื่อนดังกล่าวแตกในระหว่างการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเขื่อนสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2557

เขื่อนน้ำอ้าว เมืองผาไซ แตกเมื่อปีที่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นคำถามให้กับประชาชนที่ตั้งคำถามต่อมาตรฐานในการก่อสร้างและการตรวจสอบคุณภาพเพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยรวมว่า หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าว

นอกจากประชาชนยังต้องการคำชี้แจงถึงการคุ้มครองมาตรฐานทางเทคนิค ความปลอดภัยและความแน่นหนาของเขื่อนต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้กับชุมชนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เว็บไซต์ idsala , เฟซบุ๊ก ABC Laos news ສຳນັກຂ່າວເອບີຊີລາວ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน