นักวิจัยเคมีไฟฟ้าจุฬาฯ คว้ารางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2561 ผู้ริเริ่มนำขั้วไฟฟ้าเพชรเจือโบรอน มาใช้เป็นรายแรกของไทย เพิ่มความก้าวหน้านวัตกรรมใหม่ พัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย

นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น / เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 36 โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ร่วมแสดงความยินดี พร้อมร่วมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของนักวิทยาศาสตร์ไทยกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)”

ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและอธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กล่าวว่า การพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทย จำเป็นต้องอาศัยนักวิจัยในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่มีศักยภาพไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือการใช้งานด้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

ศ.ดร.จำรัส กล่าวต่อว่า ซึ่งจากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ใน 137 ประเทศทั่วโลก พบว่าระดับความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 32 ระดับความสามารถด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไทยอยู่อันดับที่ 57 ความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่ในอันดับที่ 61 และการสร้างนวัตกรรมอยู่อันดับที่ 50 และหากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ พบว่าการสร้างนวัตกรรมของไทยอยู่อันดับที่ 4 ในขณะที่คุณภาพของระบบการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 4 เช่นกัน

สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2561 ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท

ทั้งนี้ ศ.ดร.อรวรรณ เป็นผู้ริเริ่มการนำขั้วไฟฟ้าเพชรเจือโบรอน (Boron-doped diamond, BDD) มาใช้เป็นรายแรกของไทย ซึ่งขั้วไฟฟ้านี้ใช้เป็นเซ็นเซอร์สำหรับการตรวจวัดสารประกอบอินทรีย์และสารประกอบอนินทรีย์ สามารถประยุกต์ใช้ทางด้านสิ่งแวดล้อม ทางด้านอาหาร และทางด้านการแพทย์ อีกทั้งเป็นการช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์การตรวจวิเคราะห์จากต่างประเทศ และเป็นการช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในการผลิตอุปกรณ์ตรวจวัด เพื่อใช้งานได้เองภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2561 ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ 1.ดร.จุฬารัตน์ วัฒนกิจ สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผลงานวิจัย “ตัวเร่งปฏิกิริยานาโน สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน” และ 2.ผศ.ดร.เจ้าทรัพย์ บุญมาก สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นผลงานวิจัย “ผลึกวิทยาของวัสดุโคออร์ดิเนชันพอลิเมอร์และสารเชิงซ้อนชนิดใหม่”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน