เรื่องเล่าชีวิต ลุงบุญเสริม ไทยพลัดถิ่นสิงขร หนีสงคราม-พม่าไม่ยอมรับ ใช้เวลาหลายสิบปี กว่าจะได้เป็นคนไทย

“รู้สึกมาตั้งแต่เกิดว่าเป็นคนไทย ไม่ต้องมาถามผมก็ได้ ให้ไปถามทางพม่าว่าเรียกพวกเราว่าเป็นคนไทยหรือคนพม่า แต่พอมาอยู่ที่ไทย คนไทยเรียกเราว่าพวกไทยห้าสิบ คือเป็นคนไทยครึ่งหนึ่ง แต่เราไม่ใช่ลูกครึ่งเพราะพ่อแม่ปูย่าเป็นคนไทยที่ถูกทิ้งเอาไว้”

นี่เป็นคำตอบที่กระจ่างชัดถึงความรู้สึกของ ‘ลุงบุญเสริม ประกอบปราณ’ ในวัย 70 ปี เมื่อถูกตั้งคำถามถึงความเป็นคนไทย

ลุงบุญเสริม ประกอบปราณ ในวัย 70 ปี ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่บ้านไร่เครา ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขาเป็นหนึ่งในคนไทยพลัดถิ่นที่อพยพหนีภัยการสู้รบมาจากบ้านสิงขรสุวรรณคีรี เมืองตะนาวศรี ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเมียนมา

ลุงบุญเสริม ประกอบปราณ

เมื่อกว่า 100 ปี อังกฤษได้ปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าใหม่ ทำให้ชุมชนคนไทยในเขตมะริด ทวาย ตะนาวศรี ตกอยู่ในเขตแดนพม่า แต่คนกลุ่มนี้ยังคงมีวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมและภาษาแบบคนไทย ขณะที่พม่าไม่ได้ยอมรับคนกลุ่มนี้เป็นพลเมืองของพวกเขา

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2514 ยุคที่ทหารพม่าสู้รบกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างหนัก โดยเฉพาะบริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา ทำให้มีการกวาดต้อนคนหนุ่มให้ไปเป็นลูกหาบแบกสัมภาระ และอาวุธและมีการปล้นสะดม ชาวบ้านจำนวนมากต้องหนีภัยออกจากหมู่บ้าน ลุงบุญเสริมจึงหนีข้ามมายังประเทศไทย ติดตามมาพร้อมกับกลุ่มพ่อค้าวัวควายผ่านทางชายแดน จ.ประจวบคีรีขันธ์

“ตอนหนีมาอายุได้ 23 ปี ช่วงนั้นคนไทยทยอยหนีมากันไม่น้อย ก็ได้อาศัยอยู่กับญาติทางทวด จำได้ก่อนปี 2517 เขาเรียกให้ไปรายงานตัวกับกำนันว่าจะมีการทำเรื่องเพิ่มชื่อให้ แต่คนที่เข้ามาสมัยนั้นไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้ใหญ่บ้านก็อนุญาตให้อยู่กันได้ จึงไม่ค่อยมีใครไปรายงานตัว”

กระทั่งปี 2519 เริ่มมีการสำรวจจัดทำทะเบียนผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า-เชื้อสายไทย ลุงบุญเสริมจึงเข้ารายงานตัวและได้รับบัตรประจำตัวสีเขียว จากนั้นเริ่มออกไปทำงานไกลถึง จ.สงขลา และจ.ตรัง ทำงานรับจ้างขี่ช้างลากไม้เลื่อยไม้ยางพาราอยู่หลายปี ครั้งหนึ่งเคยเกือบถูกตำรวจจับบนรถไฟ ตำรวจขอดูบัตรประชาชนจึงเอาบัตรสีเขียวยื่นให้ ก็รอดมาได้เพราะมีคำว่าเป็นคนเชื้อสายไทย

วัดสิงขรณ์

“บัตรมึงเหมือนเหมือนคนไทยแล้ว มีบัตรมีคำว่าเชื้อสายไทย ไปเถอะไม่จับ ตำรวจว่าอย่างนั้น” ลุงบุญเสริมเล่า

ย้อนไปในช่วงชีวิตที่บ้านสิงขร สมัยนั้นทางการพม่ายังไม่มีการสำรวจประชากรอย่างทั่วถึง ลุงบุญเสริมจึงไม่ได้รับการรับรองสัญชาติพม่าเช่นเดียวกับคนไทยพลัดถิ่นส่วนใหญ่ ชาวบ้านยังคงมีวิถีชีวิตแบบชาวไทย นิยมส่งลูกหลานเดินทางมาบวชเรียนแถบ จ.ประจวบคีรีขันธ์และ จ.เพชรบุรี

ส่วนโรงเรียนวัดบ้านสิงขรจะมีสอนหนังสือไทยเพียงอย่างเดียว และยังไม่มีคนพม่าเข้ามาตั้งรกรากในแถบนี้ จะมีเพียงชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และชุมชนมุสลิมอยู่บ้าง

“ปี 2508-2509 เริ่มมีการเกณฑ์คนไทยเข้าเรียนหนังสือพม่า ทางการส่งครูเข้ามาสอนภาษาพม่าให้คนไทย แต่ใช้ครูเปลืองอยู่ได้ไม่นานก็เปลี่ยนครูใหม่ เพราะเด็กไทยฟังภาษาพม่าไม่ได้เลย ต้องมีล่ามคอยแปล ผมเรียนไม่รู้เรื่องฟังไม่ออกจึงเรียนอยู่ไม่นานแล้วออกมาเลี้ยงควาย พอปี 2511 พ่อส่งไปอยู่กับทวดที่เป็นกำนันที่บางสะพาน บวชเรียนที่วัดโบสถ์ได้ 1 พรรษา แล้วก็กลับไปจำวัดที่วัดสิงขรอีก 1 พรรษา” ลุงบุญเสริมเล่า

ตำรายาสมุนไพรที่หลงเหลืออยู่ที่วัดสิงขร

ลุงบุญเสริม เล่าว่า ตาของตนเป็นหมอสมุนไพรที่ได้รับสืบทอดวิชามาจากบรรพบุรุษ สมัยก่อนไม่มีโรงพยาบาลหรือยาฝรั่ง ตาเป็นหมอที่คอยดูแลชาวบ้านที่เจ็บป่วย ใช้สมุนไพรที่หาได้จากป่ารักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคมาลาเรียหรือไข้ป้าง ไข้เลือดออก

แม้กระทั่งคนที่มีอาการทางประสาทก็ใช้สมุนไพรรักษาจนหายได้ ซึ่งตาได้บันทึกสูตรยา และวิธีการรักษาโรคไว้ในสมุดข่อยและเก็บรักษาไว้ที่บ้าน ตั้งใจจะให้ตนเองในฐานะหลายชายเป็นผู้สืบทอดวิชา แต่น่าเสียดายที่ตำราเกือบทั้งหมดถูกทหารพม่าเผาไปพร้อมกับบ้าน

“รากไม้ใบหญ้า เปลือกไข่ไก่ฟัก ตอนเด็ก ๆ ผมก็เคยรอดตายจากยาสมุนไพรพวกนี้ แต่ตอนนั้นไม่รู้จะทำยังไง ทหารมาปล้นเผาบ้าน จำได้ว่าตาถูกมัดไว้ใต้ต้นมังคุด แกพยายามจะคลานเข้าไปหอบตำรายาออกมา แต่ก็เข้าไปเอาไม่ได้ ตำรายาที่เก็บไว้หลายลังจึงถูกเผาเหลืออยู่ไม่มาก ตอนหลังจึงนำไปเก็บไว้ที่วัดสิงขร “ ลุงบุญเสริม

ปัจจุบันลุงบุญเสริมได้รับการรับรองสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555 หลังจากต่อสู้เรียกร้องสิทธิร่วมกับพี่น้องคนไทยพลัดถื่นมานานหลายปี

โดย ลุงบุญเสริม เล่าย้อนเรื่องราวให้ฟังว่า สมัยก่อนคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากตกเป็นเหยื่อหลอกทำบัตรประชาชนหลายรูปแบบ บางรายหลอกเงินครั้งละ 300-3,000 บาท มีทั้งข้าราชการ ทนายความ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ส่วนตนเองไม่ได้จ่ายเงินลักษณะนี้ เพราะมองแล้วว่าเป็นการหลอกลวง

กระทั่งปี 2545 มีการจัดประชุมการแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่น จึงตัดสินใจเข้าร่วมและจัดตั้งเป็นเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย(เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น) ต่อสู่ร่วมกับพี่น้องในหลายจังหวัดจนสามารถผลักดันเป็นกฏหมาย พ.ร.บ.สัญชาติ ประกาศใช้วันที่ 21 มี.ค.55 และอีก 2 ปีต่อมา จึงได้รับบัตรประชาชนเมื่อวันที่ 27 มี.ค.57

“วันนี้แม้จะได้บัตรประชาชนแล้วแต่ก็ยังไม่ทิ้งเครือข่าย เพราะต้องเป็นพี่เลี้ยงแนะนำกระบวนการยื่นเรื่อง ขั้นตอนกฎหมาย การทำผังเครือญาติเป็นพยานยืนยัน เป็นที่ปรึกษาให้กับชาวบ้านที่ยังไม่ได้บัตร เพราะยังมีคนไทยพลัดถิ่นจำนวนนับหมื่นคนที่ยังรอการพิสูจน์สัญชาติไทย แต่กระบวนการยังล่าช้า” ลุงบุญเสริม กล่าว

นอกจากนี้ลุงบุญเสริมยังมองอีกว่า คนไทยพลัดถิ่นถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปักปันเขตแดนไทย-พม่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายฯ ได้เริ่มนำร่องแก้ปัญหาในจ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการทำแผนผังชุมชน รวบรวมข้อมูลเสนอให้รัฐบาลดำเนินการตามนโยบายโฉนดชุมชน

“เราถูกทิ้งตกอยู่ในบังคับของพม่ากว่า 100 ปี ทิ้งเราไม่เอาคนไทยกลับมาด้วย รัฐต้องชดเชยคืนสิทธิให้ด้วย ต่อไปต้องต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดิน เพราะมีบัตรประชาชนแต่ปลูกมะพร้าวบนบัตรไม่ได้ ต้องมีที่ดินที่อยู่อาศัย เพราะตอนที่หนีมาทุกคนมาแต่ตัว แอบทำงานรับจ้าง อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ บ้านที่ดินก็ทิ้งไว้ที่นั่น ทหารพม่าบอกเราว่า ต้นไม้ ทุเรียน หมาก มะพร้าว เอากลับไปได้เลย แต่แผ่นดินนี้เป็นของเขา” ลุงบุญเสริม กล่าว

วันนี้ลุงบุญเสริมยังคงต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านคนไทยพลัดถิ่น ที่แม้กระบวนการต่างๆ จะล้าช้า แต่ท้อถอยไม่ได้ เพราะหวังว่าผลสำเร็จในวันนี้ จะส่งไปถึงลูกหลานที่จะมีสิทธิสมบูรณ์เช่นคนไทย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน