อังคณา พาลูกชายเยี่ยมแม่ ถูกจับกรณี เสื้อต้องห้าม ที่มทบ.11 ศูนย์ทนาย แถลงค้าน ทหารคุมตัว

เสื้อต้องห้าม / ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัวนางวรรณนภา (ปกปิดนามสกุล) อาชีพ ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง พร้อมเสื้อยืดสีดำที่มีแถบป้ายสีขาวแดงบริเวณหน้าอกจำนวนหนึ่งที่บริเวณห้องพักย่านสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.

โดยข่าวแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะนำตัวนางวรรณนภาส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ในวันที่ 8 ก.ย.61 เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา ทำให้บุตรสองคนของนางวรรณนภา ซึ่งมีอายุ 14 ปี และ 9 ปี ไปรอดักพบมารดาที่กองบังคับการปราบปราม แต่ต้องผิดหวังเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้นำนางวรรณนภามาที่กองบังคับการปราบปราม นั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.ย. นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พาบุตรทั้ง 2 คนของนางงวรรณนภา เข้าเยี่ยมมารดาที่ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ. 11) เมื่อเวลา 9.00 น. หลังทราบว่า เด็กทั้งสองคนมีความเครียด ไม่พูดกับใคร เนื่องจากทั้งสองรู้สึกกังวลว่ามารดาอาจถูกดำเนินคดี หรือไม่ได้กลับบ้าน

อังคณา นีละไพจิตร

อังคณา นีละไพจิตร

จากการเข้าเยี่ยมพบว่าห้องควบคุมตัวนางวรรณนภา ไม่มีลักษณะเป็นห้องกัก แต่เป็นห้องที่ปกติใช้เป็นห้องรับรอง โดยมีเตียงนอน ห้องน้ำส่วนตัว และมีสิ่งอำนวยความสะดวก โดยมีเจ้าหน้าที่หญิงให้การดูแล และคอยพูดคุยเพื่อไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหามีความกังวลใจ

___________________________________________________________

ศูนย์ทนาย ออกแถลงการณ์ค้านทหารคุมตัว วรรณนภา

___________________________________________________________

ต่อมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ กรณีทหารควบคุมตัว นางวรรณนภา ความว่า ตามที่เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัวบุคคลอย่างน้อยสองรายจากกรณีใส่หรือมีเสื้อยืดสีดำ ลายโลโก้สี่เหลี่ยมสีขาวสลับแดง ไปจากบ้านพักย่านประเวศและสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.61 ซึ่งขณะนี้ นางวรรณภา (สงวนนามสกุล) ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 11 โดยไม่มีสิทธิในการเข้าถึงทนายความ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นดังต่อไปนี้

1. การควบคุมตัวโดยไม่มีการแจ้งเหตุในการควบคุมตัว ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยศาล และไม่มีสิทธิในการพบทนายความ นั้นทำให้บุคคลขาดหลักประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพ รูปแบบการจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557

เป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งขัดต่อข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อันรับรองว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้

เสื้อต้องห้าม

เสื้อต้องห้าม

2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ มีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานตามวาระฉบับที่ 2 ของประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ว่า รัฐไทยควรจะปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการโดยทันที และจัดให้พวกเขาเข้าถึงการเยียวยาอย่างเต็มที่

ทั้งยังควรปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายและการปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในการควบคุมตัวบุคคลอย่างต่อเนื่อง

เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า “การควบคุมตัวโดยไม่ชอบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เหตุการณ์ไม่ปกติเหล่านี้ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติซึ่งไม่อาจยอมรับได้

รัฐมีหน้าที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าการกระทำใดเป็นความผิดก็ควรที่จะดำเนินการไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเราเรียกร้องให้ปล่อยตัว นางวรรณภา และผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากเหตุดังกล่าวในทันที”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน