ปัจจุบันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีเหตุก่อการจลาจลในประเทศไทยเกิดขึ้นอยู่เนื่องๆ เสื้อเกราะที่ใช้กันกระสุนในประเทศไทยเกิดความไม่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจากเสื้อเกราะกันกระสุนส่วนใหญ่ ยังมีการสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง

ด้วยเหตุนี้เอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพัฒนาและผลิตเสื้อเกราะกันกระสุน “จามจุรี”ที่ได้ตามมาตรฐาน NIJ0101.04 Level 2A จากประเทศสหรัฐอเมริกาน้ำหนักเสื้อเกราะ (รวมแผ่นเกราะ 1 แผ่น) มีน้ำหนักเพียง 3.5 กิโลกรัม ต้นทุนการผลิต ตัวละไม่เกิน 6,000 บาท เพื่อหวังลดการนำเข้าจากต่างประเทศอยากให้เหล่าทหาร ตำรวจ ทุกคนที่อยู่ทุกพื้นที่ในประเทศไทยที่คอยปกป้องประเทศชาติ ได้ใส่เสื้อเกราะกันกระสุนเพื่อปกป้องตัวเองด้วยเช่นกัน

โดย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทยรองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการพัฒนางานใหม่และงานนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพิธีมอบเสื้อเกราะกันกระสุนจามจุรีต้นแบบจำนวน 10 ตัว ให้กับ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. นำไปใช้งาน

สำหรับ “เสื้อเกราะจามจุรี” ถูกคิดค้นขึ้นโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวัสดุศาสตร์ได้แก่ Powder metallurgy, Compositematerials, Metallic foams, Failure analysis และยังเชี่ยวชาญในด้านพลังงานในเรื่องของ Energy management and conversation, Alternative energy

และในด้านระบบท่อและอุปกรณ์ในโรงงาน เช่น Piping, Boiler, Pressure vessel, Pump, Compressor เป็นต้น และอีกหนึ่งท่านที่มีส่วนในการพัฒนาเสื้อเกราะคือ นายอัฐวุฒิ ผลาสินธุ์ นิสิตปริญญาโทในที่ปรึกษา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการก่อการจลาจลในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความขัดแย้งใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ตำรวจ ทหารและผู้ที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้เสื้อเกราะกันกระสุนในการปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม เสื้อเกราะกันกระสุนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันในประเทศไทยยังต้องมีการสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง อีกทั้งเสื้อเกราะที่ใช้กันกระสุนโดยทั่วไปเกิดความไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีใช้เฉพาะนายทหารหรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และอายุการใช้งานสั้น

ด้วยเหตุผลนี้เองทางคณะผู้วิจัยจึงเห็นความสำคัญในการผลิตและพัฒนาเกราะกันกระสุนแบบใหม่ที่สามารถป้องกันกระสุนได้ตรงตามมาตรฐาน น้ำหนักเบา ผลิตจากวัสดุผสม (Composite)สามารถผลิตใช้ขึ้นเองได้ในประเทศ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเสื้อเกราะกันกระสุนจากต่างประเทศ

โดยเริ่มต้นจากการศึกษาเกราะกันกระสุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่าเกราะสมัยใหม่จะมีหลายชั้น โดยชั้นแรกสุดที่อยู่ด้านหน้าจะทำจากวัสดุแข็ง เช่น โลหะหรือเซรามิก เพื่อใช้หยุดหัวกระสุน และชั้นด้านในหลายๆชั้น จะทำจากวัสดุที่มีความเหนียวและมีความยืดหยุ่นสูง

ทำให้สามารถดูดซับพลังงานจลน์จากคลื่นกระแทก (Shock wave) ที่ส่งต่อจากหัวกระสุน จึงทำให้ผู้สวมใส่ไม่ได้รับอันตราย และจากการศึกษาพบว่าวัสดุที่มีใช้อยู่ทั่วไปในเกราะกันกระสุนสมัยใหม่จะมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนในการผลิตเกราะกันกระสุนมีราคาสูงตามไปด้วย

ดังนั้นจึงเริ่มศึกษาว่ามีวัสดุอะไรบ้างที่มีสมบัติเหมาะสมและมีราคาถูก ที่สามารถใช้แทนวัสดุทั่วไปที่ใช้อยู่ ก็เลยนึกถึงฟิล์มเอ็กซเรย์ ที่เคยมีข่าวว่ามีการใช้กันเพื่อป้องกันกระสุน หรือสะเก็ดระเบิดในช่วงเวลามีการประท้วงทางการเมืองจึงได้ไปนำเอาฟิล์มเอ็กซเรย์ที่ทิ้งแล้วของโรงพยาบาลต่างๆ มาทดสอบและวิจัย

ซึ่งก็พบว่าฟิล์มเอ็กซเรย์ สามารถนำมาใช้ทำเป็นวัสดุดูดซับพลังงานจลน์จากคลื่นกระแทกในเกราะกันกระสุนได้ และฟิล์มเอ็กซเรย์ ที่ทิ้งแล้วก็ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ จึงช่วยลดต้นทุนของเกราะกันกระสุนได้อย่างมาก

นายอัฐวุฒิ ผลาสินธุ์ นิสิตปริญญาโทในที่ปรึกษา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ความยากง่ายในการทำอยู่ที่การเลือกใช้วัสดุต่างชนิดกันมาประกอบรวมเข้าด้วยกัน ต้องนำข้อดีของวัสดุแต่ละชนิดมาผสมกัน

อีกปัจจัยที่มีความสำคัญคือต้องเป็นวัสดุที่สามารถหาได้ง่ายภายในประเทศ มีราคาไม่แพง และในงานวิจัยเรื่องเกราะกันกระสุนชนิดนี้ ก็ไม่ได้มุ่งศึกษาแต่เฉพาะสมบัติของวัสดุที่นำมาประกอบกันเป็นแผ่นเกราะเพียงอย่างเดียว แต่ยังศึกษาถึงลำดับการจัดวางวัสดุและจำนวนชั้นของวัสดุภายในแผ่นเกราะกันกระสุนด้วย เพื่อให้ได้แผ่นเกราะกันกระสุนที่เบา มีน้ำหนักน้อย มีความหนาไม่มาก และสามารถใช้กันกระสุนได้ตามมาตรฐานสากล

สามารถกันกระสุนขนาด 9 mm. FMJ, กระสุน .45 ACP FMJ และ .357 Mag JSP ได้ตามมาตรฐาน NIJ0101.04 Level 2 จากประเทศสหรัฐอเมริกา น้ำหนักเสื้อเกราะ (รวมแผ่นเกราะ 1 แผ่น) มีน้ำหนักเพียง 3.5 kg ต้นทุนการผลิต ตัวละไม่เกิน 6,000 บาท ซึ่งการจดสิทธิบัตรเป็นแนวคิดของ รศ.ดร. เสกศักดิ์ (อาจารย์ที่ปรึกษา) เป็นผู้แนะนำเพื่อคุ้มครองงานประดิษฐ์เสื้อเกราะกันกระสุน”

สำหรับโครงการนี้ ในอนาคตคาดว่าทางคณะผู้วิจัยและคิดค้น จะนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยเกราะกันกระสุนชนิดนี้ไปทำการพัฒนาต่อยอดให้มีขีดความสามารถในการป้องกันได้ในระดับที่สูงขึ้น เช่น ในระดับ 3A ถึง 3 ต่อไป โดยยังคงต้องมีน้ำหนักที่ไม่มากเกินไป และมีราคาถูกด้วย

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอขอบคุณทาง รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการพัฒนางานใหม่และงานนวัตกรรม และคณะผู้ทำงานของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมใช้ความรู้ความสามารถทางด้านวัสดุศาสตร์นำมาผลิตเสื้อเกราะจามจุรี ที่มีคุณภาพสูง น้ำหนักเบา สามารถผลิตใช้ในประเทศไทยได้เอง ทำให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเสื้อเกราะนำเข้าจากต่างประเทศ

“เสื้อเกราะจามจุรีที่ได้รับมอบไปก็จะนำไปใช้ เพื่อป้องกันชีวิตของพี่น้องประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากผลการทดสอบ ผมเห็นรอยกระสุน หลากหลายขนาด ถือว่าเสื้อเกราะจามจุรีมีคุณภาพครับ” รองผบ.ตร. กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน