หน่วยงาน ด้านสิทธิมนุษยชน จี้ สนช.เร่งพิจารณารับรอง กสม. ชุดใหม่ โดยเร็ว

ด้านสิทธิมนุษยชน – เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาเรื่อง “สิทธิมนุษยชนจากวาระแห่งชาติสู่วาระซ่อนเร้น : กรณีสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” โดยมีที่มาจากการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ คณะกรรมการสรรหา กสม. ได้สรรหาบุคคลที่น่าจะมีโอกาสได้เป็นกรรมการสิทธิฯ จำนวน 7 ท่าน และส่งรายชื่อให้ทาง สนช.

ร่วมกันพิจารณารับรองตามกระบวนการ แต่กระบวนการค่อนข้างยืดเยื้อ ยาวนาน ทำให้เป็นที่ตั้งข้อสังเกตจากสถาบันหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง จนเป็นที่มาของการทำจดหมายเปิดผนึกถึงประธาน สนช. โดย 40 องค์กร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561

นายสมชาย หอมลออ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในฐานะกรรมการสรรหาฯ คนหนึ่ง และเป็นคนที่อยู่ในวงการด้านสิทธิมนุษยชน ปัญหาไม่อยู่ที่ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเสนอแต่งตั้งใคร แต่ปัญหาคือ กระบวนการที่เกิดขึ้นในการพิจารณาแต่งตั้งอันนี้ผมคิดว่ามีปัญหา มันไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และใช้เวลานานเกินสมควร ซึ่งเราไม่ทราบว่าเหตุผลที่ยืดมาจะครบ 120 วันอยู่แล้ว เหตุผลจริงๆ มันคืออะไร

ทั้งนี้เพราะเหตุผลที่ออกมาเป็นข่าวว่า “คนนั้นคนนู้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้” มันไม่น่าจะเป็นเหตุผลในการพิจารณาว่าคนนั้นคนนี้ควรจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งหรือไม่ ก็อยากจะเสนอข้อมูลเหล่านี้ ความคิดเห็นเหล่านี้ผ่านไปทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีมติเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 7 คน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 ในวันที่ 5 ก.ย. 2561 ที่ประชุมสนช. มีมติตั้คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกสม. โดยกำหนดให้ตรวจสอบแล้วเสร็จใน 60 วัน แต่เมื่อครบกำหนดกลับขอขยายเวลาไปอีก 30 วัน และเมื่อครบกำหนดที่ขอขยายแล้วกลับขอขยายเวลาเป็นครั้งที่ 2 ไปอีก 30 วัน

นายปกป้อง เลาวัณย์ศิริ จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) กล่าวว่า ในส่วนตัวเห็นว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นในชั้น สนช. มันเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างกังวล เพราะไม่ได้เป็นกระบวนการที่โปร่งใส ถ้าไปดูคำแนะนำของ สมาพันธ์สถาบันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (GANHRIX) หรือสถาบันสิทธิมนุษยชนเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (ICC) จะเห็นว่าเขามองกระบวนการสรรหารวมถึงการแต่งตั้งด้วย

ดังนั้น ไม่ใช่แค่ว่ากระบวนการสรรหามีการพัฒนาในรูปแบบที่ดีคือการมีภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม และมีกระบวนการให้ข้อมูลกับทางสังคม แต่พอเข้าไปถึง สนช. สังคมไม่รู้ว่ากระบวนการมันเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงถ้าเข้าไปดู Website ของ สนช. จะเห็นว่าคณะกรรมาธิการตรวจคุณสมบัติของกรรมการสิทธิฯ ไม่มีข้อมูลอะไรเลยที่สังคมจะสามารถเข้าถึงได้

ทาง GANHRI ก็ได้ให้ความเห็นไว้ชัดเจนว่ากระบวนการสรรหา ซึ่งรวมไปถึงกระบวนการตรวจประวัติ ซึ่งกำลังเกิดขึ้น การดำเนินการต้องมีการหารือ และก็ขอความเห็นจากองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน สหภาพแรงงาน องค์กรอาชีพต่างๆ ที่สำคัญมากๆ กว่านั้น คือ การที่ สนช. จะมีมติในการรับหรือไม่รับผู้ที่ได้รับการสรรหา ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยถูกลดระดับจาก A เป็น B เมื่อปลายเดือนมกราคม ๒๕๕๙ ก็ได้มีประเด็นต่างๆ ที่ทาง ICC ท้วงติงมาในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องกระบวนการสรรหา เรื่องความไม่เป็นกลางของกรรมการสิทธิฯ เรื่องเอกสิทธิในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ให้ถูกดำเนินคดี เรื่องความสามารถในการตอบสนองเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ ทางรัฐบาลได้พยายามที่จะให้กลับไปสู่สถานะ A เช่นเดิม โดยพยายามแก้ไขในหลายๆด้าน เฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขกระบวนการสรรหาโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐

ด้าน ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เราอยากให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยกลับมาอยู่สถานะ A เหมือนเดิม เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนคนไทยใน UN ได้จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เนื่องจากรัฐบาลไทยก็ไปรับข้อเสนอแนะ ให้คำมั่นสัญญาอย่างน้อยที่สุดก็ 2 ข้อ คือ เรื่องการผลักดันให้กลับสู่ระดับ A ถามว่าจะทำอย่างไร การกระทำของ สนช. ในปัจจุบันมันจะทำให้กรรมการสิทธิฯ จะเลื่อนกลับไปสู่สถานะ A ไหม ถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้อีก เข้าใจว่าคงอีกนาน

ดร.ศรีประภา กล่าวต่อว่า ขอมีข้อเสนอแนะไปที่ สนช. ข้อที่ 1 คือ ให้ Focus ไปที่หน้าที่ของตัวเอง ข้อที่ 2 เร่งกระบวนการสรรหาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ข้อที่ 3 ให้มั่นใจว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ที่จะได้มาเป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้จริงๆ ไม่ใช่กลายเป็นที่พึ่งพาของรัฐบาล หรือถ้าให้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียง เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล อันนั้นไม่ใช่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ประชาชนต้องการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน