แนะเพิ่มพื้นที่สาธารณะ เพื่อคนเมือง ชูต้นแบบ ศูนย์การเรียนรู้แบงค์ชาติ-ลานกีฬาพัฒน์ 1

แนะเพิ่มพื้นที่สาธารณะ – ​จากฉันทมติเห็นชอบประเด็นนโยบาย “การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ.2561ที่ผ่านมา สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงจัดให้มีการลงพื้นที่ศึกษาดูงานตัวอย่างรูปธรรมในการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของคนเมือง 2 แห่งด้วยกันคือ ‘ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย’ และ ‘ลานกีฬาพัฒน์1’

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จัดกิจกรรมศึกษาดูงานตัวอย่างรูปธรรมพื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสร้างสุขภาวะให้แก่ประชาชน สอดรับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เรื่อง การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้รับทราบและเห็นตัวอย่างของการบูรณาการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของคนเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 2 พื้นที่ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนสามเสน และลานกีฬาพัฒน์1 การเคหะคลองจั่น

ภารณี สวัสดิรักษ์ รองประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2561-2562 เผยว่า “การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” โดยเน้นย้ำความสำคัญของระบบสุขภาพในโลกยุค 4.0 และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในทุกระดับให้เกิดนโยบายที่เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชนครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคมและสุขภาพทางปัญญา โดยหนึ่งในระเบียบวาระที่เข้าสู่การพิจารณาในปีนี้ คือประเด็น “การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เนื่องจากพัฒนาการของความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่สาธารณะที่ชุมชนจะใช้ประโยชน์ร่วมกันลดลงไปมาก

ทั้งๆ ที่พื้นที่สาธารณะมีความสำคัญต่อสุขภาวะ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเท่าเทียมกันของสังคม แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่สาธารณะเพียง 6 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้อย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องบูรณาการความร่วมมือในการวางแผน ออกแบบและพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่ความเป็นเมืองสุขภาวะที่ดี (Wellness City) อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทยโดยมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการทางด้านการเรียนรู้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความรอบรู้ด้านการเงินในชีวิตประจำวัน ศูนย์การเรียนรู้เปิดให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักเรียนนักศึกษาสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ก็เปิดให้มีพื้นที่พิเศษสำหรับสมาชิก โดยเสียค่าสมาชิกเพียงปีล่ะ 1,500บาท/ปีเท่านั้น ซึ่งสมาชิดจะได้รับสิทธิในการเข้าใช้พื้นที่ส่วนตัว รวมถึงมีสิทธิใช้ wifi internet ในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลเพื่อค้นหาความรู้ และมีส่วนลดในการเข้าใช้ห้องประชุมถึง 50% ซึ่งถือได้ว่าศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพื่นที่สาธารณะที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้สำคัญแห่งหนึ่ง

ประกอบ ตอสุวพรรณ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า “จากเดิมประชาชนมีความรู้สึกว่าแบงค์ชาติเป็นองค์กรที่อยู่ไกลตัว ไม่สามารถจับต้องได้ นำมาสู่แนวคิดการพัฒนาพื้นที่ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรเก่าให้กลายเป็นพื้นที่ที่คนเข้าถึงได้ ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการเข้ามาดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ของแบงค์ชาติ

ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. เปิดเมื่อเดือนม.ค. 2561 มุ่งเน้นสร้างความรอบรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) ให้แก่ประชาชน โดยมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. ห้องสมุด 2. Co-working Space 3. พิพิธภัณฑ์ 4. ลานนิทรรศการ และ 5. หอจดหมายเหตุ โดยตลอดระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมาได้มีประชาชนเข้ามาดำเนินกิจกรรมในพื้นที่แล้วกว่า 80,000 คน

นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังจัดอีเวนท์ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและรับฟังข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ อาทิ “Book Talk Fes(Fiance/Economic/Social)” หรือการเล่าเรื่องโดยนักเขียน โดยจะเชิญนักเขียนแถวหน้าของไทยที่เขียนหนังสือทางด้านการเงิน สังคม และเศรษฐกิจ มาพูดคุยถ่ายทอดมุมมองการเขียนของตนทุกเย็นวันเสาร์สุดท้ายของเดือน “Stories Sharing”

หรือการเชิญกูรูในแต่ละด้านมานั่งพูดคุยกับกลุ่มคนผู้สนใจทุกวันศุกร์ที่ 2 ของเดือน “คุยกัน Money CBS” หรือการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน อาทิ การออม การเก็บเงินหลังเกษียณ เป็นต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างแบงค์ชาติ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นทุกเย็นวันอังคาร และ “Econ Fin Talk and Share” หรือการบรรยายเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนด้านเศรษฐกิจและการเงิน อีกด้วย

สำหรับลานกีฬาพัฒน์1 เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะที่เป็นต้นแบบการจัดการพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์อย่างลงตัว โดยการช่วยกันบริหารงานระหว่างภาครัฐ และชุมชนอย่างลงตัวจนทำให้คนในชุมชนรู้สึกรัก และเป็นส่วนหนึ่งในสถานที่ โดยเดิมทีพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เหลือใช้ของเคหะชุมชนคลองจั่น ภายหลังได้มีการบูรณะเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ณ สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงสวนสาธารณะ หรือเป็นเพียงลานออกกำลังการในชุมชนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสุขภาวะที่บูรณาการ รวมถึงเป็นลานกิจกรรมสำคัญของชุมชนอีกด้วย

เอกมงคล ปัญญาไว ประธานคณะกรรมการลานกีฬาพัฒน์1 กล่าวว่า “ลานกีฬาพัฒน์ 1 ได้ก่อตั้งมาประมาณ 7 ปี เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีสุขภาพดี และได้ใช้สอยประโยชน์จากพื้นที่ในชุมชน โดยการพัฒนาพื้นที่ที่เคยรกร้าง เริ่มจากการที่สถาบันอาศรมศิลป์ร่วมกับชาวชุมชนทำประชาพิจารณ์ความต้องการของการใช้พื้นที่ ทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของพื้นที่ เกิดการเข้ามาใช้ประโยชน์ และเกิดการดูแลให้เป็นพื้นที่ที่สวยงามและสะอาดอยู่เสมอ

นอกเหนือจากการเป็นลานกีฬาให้ประชาชนได้เข้ามาเล่นกีฬาประเภทต่างๆ แล้ว ยังมีการออกแบบเพื่อให้ผู้ที่อยู่บนอาคารการเคหะคลองจั่นมีที่ที่จะออกมาจากห้องสีเหลี่ยมมาทำกิจกรรมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ มีการปลูกพืชที่หาได้ง่ายๆ ตามบ้าน อาทิ พืชผักสวนครัว สมุนไพร ตลอดจนการจัดให้มี ‘ชาน’ ให้คนในแต่ละกลุ่มวัยสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ ชานเด็ก ชานผู้สูงอายุ และชานสุขภาวะ อีกด้วย”

ด้าน ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 61-62 กล่าวเสริมถึงสาระสำคัญของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่ได้จากที่ประชุม คือ ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ร่วมกันจัดทำแผนและสนับสนุนงบประมาณในการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะในเขตเมืองผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ความสำคัญและสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

มีการปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขอใช้และขอเช่าที่ดินของหน่วยงานรัฐ พัฒนาแนวทางปฏิบัติผ่านมาตรการผังเมืองและการออกแบบอาคารที่สร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคเอกชนในการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ใช้งานง่าย และปลอดภัย เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนและเมือง รวมถึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการจัดทำสื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนพัฒนากลไก เครื่องมือ และมาตรการอื่นๆ เพื่อการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะในเขตเมืองที่ยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน