ความสำเร็จรพ.ตำรวจ เปิด 2 เพจดัง ช่วยคนซึมเศร้า-ลดรุนแรงเด็กสตรี

รพ.ตำรวจ / ความสำคัญและที่มาของ : Because We Care และ Depress We Care : ซึมเศร้าเราใส่ใจ

สังคมโลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารคมนาคม ทำให้คนในสังคมสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสามารถเชื่อมโยงติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างไร้พรมแดน

สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นช่องทางในการสื่อสารที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นใครหรือมาจากไหนสามารถใช้สื่อออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็น รับรู้ข่าวสาร รวมถึงการติดต่อสื่อสารกันได้อย่างแพร่หลายเพียงมีบัญชีผู้ใช้งานของสื่อสังคมออนไลน์แต่ละชนิด

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Facebook ถือเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และยังคงมีการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน อีกทั้งสามารถแบ่งปันข้อมูลได้หลากหลายประเภทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ คลิปวีดีโอ หรือแม้กระทั่งภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็ถ่ายทอดให้ผู้อื่นเห็นประหนึ่งว่าตนเองอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

อย่างไรก็ตามสื่อสังคมออนไลน์สามารถสร้างประโยชน์หรือโทษ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าจะนำสื่อออนไลน์ไปใช้ในทางใด ดังจะเห็นได้ชัดจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงที่มีแนวโน้มถูกเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งผู้เผยแพร่อาจมีวัตถุประสงค์ที่ดีเนื่องจากต้องการให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้รับความช่วยเหลือ

แต่ข้อมูลหรือภาพความรุนแรงนั้น อาจส่งผลกระทบต่อผู้กระทำความรุนแรงหรือบุคคลใกล้ชิดได้หากไม่มีการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลหรืออาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจได้ แม้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากการถูกกระทำความรุนแรงผ่านสื่อออนไลน์อาจส่งผลกระทบในเชิงลบได้ แต่ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงหรือบุคคลใกล้ชิดจำนวนหนึ่งยังคงเลือกที่จะร้องขอความช่วยเหลือผ่านสื่อสังคมออนไลน์เช่น Facebook Page โดยเฉพาะ Facebook Page ที่เรียกกันทั่วไปว่า Dark Page แทนการร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของภาครัฐที่มีความรับผิดชอบในเรื่องนั้นโดยตรง เนื่องจากสามารถสื่อสารกับคนหมู่มากและก่อให้เกิดกระแสในสังคมได้อย่างรวดเร็ว

ศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center : OSCC) โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้เสียหายซึ่งได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอย่างเป็นองค์รวม เป็นการทำงานในลักษณะของทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์ด้านนิติเวชวิทยา จากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์สูตินรีเวชกรรม พยาบาล นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์

โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นความปลอดภัยเป็นหลักรวมถึงการเก็บรักษาข้อมูลผู้ป่วยไว้เป็นความลับ

การทำงานของศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการทำงานลักษณะของการตั้งรับ ทำให้ผู้เสียหายบางส่วนที่อาจมีความอับอายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกรงกลัวอิทธิพลและถูกคุมคาม การไม่ทราบถึงช่องทางของการเข้ารับบริการ ฯลฯ ทำให้ไม่กล้าเข้ามาใช้บริการ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มผู้เสียหายที่มีการลงบันทึกประจำวันหรือแจ้งความดำเนินคดี เพื่อให้การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงเป็นไปในลักษณะเชิงรุกมากขึ้น

ทางโรงพยาบาลตำรวจ จึงให้การสนับสนุนการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บ้านพักเด็กและครอบครัว มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ดารานักแสดง ฯลฯ ผ่านช่องทางในการให้บริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพจเฟซบุ๊ก Because We Care ซึ่งเป็นช่องทางสำหรับผู้ถูกกระทำความรุนแรง ในการร้องขอความช่วยเหลือผ่าน Inbox ของ Facebook Page

โดยมีกระบวนการช่วยเหลือผ่านเครือข่ายที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน มุ่งเน้นการทำงานในลักษณะเชิงรุก พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถให้บริการอย่างทันท่วงทีเนื่องจากสามารถประสานและส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบ้านพักเด็กและครอบครัวที่มีทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด จึงสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้ทั่วประเทศ

หลังจากที่โรงพยาบาลตำรวจได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงที่ขอรับความช่วยเหลือผ่าน Because We Care พบว่ามีผู้ประสบปัญหาส่งข้อความผ่านทาง Inbox ของ Because We Care เพื่อร้องขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันสื่อออนไลน์สามารถเข้าถึงผู้คนได้อย่างรวดเร็วและหลากหลายทุกระดับ

พล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรากูร นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ เล็งเห็นว่า หากโรงพยาบาลตำรวจต้องการเพิ่มศักยภาพการให้บริการในเชิงรุก การนำสื่อออนไลน์เช่น Facebook Page มาใช้จะทำให้ข้าราชการตำรวจและครอบครัว รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการให้บริการโรงพยาบาลตำรวจได้รวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น จึงมอบหมายให้ทีมประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลตำรวจและกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ

นำโดยพ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ พยาบาล (สบ5) กลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ และพ.ต.อ.ดามพันธ์ นิลายน นายแพทย์ (สบ5) หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ จัดทำ Facebook Page ในนาม “Depress We Care : ซึมเศร้าเราใส่ใจ”

เพื่อขยายช่องทางการให้บริการของโรงพยาบาลตำรวจ โดยเริ่มจากการให้บริการทางด้านสุขภาพจิตเป็นอันดับแรก เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม อาทิ นักร้อง นักแสดง ออกมาแสดงตนว่าตนเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้คนสังคมเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น

ประกอบกับมีข่าวข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรมปรากฏตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลตำรวจในฐานะหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ จึงมอบหมายให้กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ทำการศึกษาวิจัยเชิงลึกถึงสาเหตุในการกระทำอัตวินิบาตกรรมของข้าราชการตำรวจ

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ข้าราชการตำรวจที่กระทำอัตวินิบาตกรรมส่วนใหญ่มีภาวะซึมเศร้า และไม่ได้เข้ารับการประเมินหรือการรักษาจากจิตแพทย์ ซึ่งอาจเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาทางด้านสุขภาพจิต หรือมีทัศนคติในเชิงลบว่าผู้ที่มาขอรับบริการทางด้านจิตเวชเป็นคนอ่อนแอ หรือเกรงว่าจะถูกคนรอบข้างมองว่าตนเองมีความผิดปกติ

Depress We Care เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวัน 5 ม.ค.2561 โดยเนื้อหาในเพจจะมีการนำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าไม่ว่าจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคซึมเศร้า อาการและสาเหตุ แนวทางในการดูแลและรักษา ความรู้เกี่ยวกับยาที่ใช้ในการรักษา ผ่านรูปแบบการนำเสนอข้อมูลที่กระชับและเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายระดับการศึกษาและช่วงวัยที่แตกต่างกัน

ส่วนวัตถุประสงค์ของ Depress We Care มิใช่เพียงการเพิ่มช่องทางในการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพจิต โดยมีการบริการให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพจิตผ่านทาง Inbox ของ Facebook Page และสายด่วน Depress We Care หมายเลขโทรศัพท์ 081-932-0000

ซึ่งมีนักจิตวิทยาของโรงพยาบาลตำรวจคอยบริการให้คำปรึกษาปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ตลอด 24 ชั่วโมง โดยนักจิตวิทยาจะให้คำปรึกษา และทำการประเมินอาการเบื้องต้น หากเมื่อประเมินแล้วมีความเห็นว่า ผู้ขอรับคำปรึกษาควรพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการประเมินและรักษาอย่างเป็นระบบ นักจิตวิทยาจะแนะนำหน่วยงานบริการทางด้านสุขภาพจิตที่อยู่ใกล้ผู้ขอรับบริการมากที่สุด เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ไม่เพิ่มภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งยังสามารถรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง

จากสถิติในการให้บริการของ Depress We Care พบว่า ในปี 2561 มีผู้ขอรับคำปรึกษาผ่าน Inbox ของ Facebook Page และสายด่วน Depress We Care รวมทั้งสิ้น 728 ราย โดยขอรับคำปรึกษาผ่าน Inbox ของ Facebook Page จำนวน 308 ราย

แบ่งเป็นข้าราชการตำรวจและครอบครัว 33 ราย และประชาชนทั่วไป 275 ราย และขอรับคำปรึกษาผ่านสายด่วน Depress We Care 420 ราย แบ่งเป็นข้าราชการตำรวจและครอบครัว 67 ราย และประชาชนทั่วไป 353 ราย

โดยเรื่องที่ขอรับคำปรึกษามากที่สุดคือ เรื่องความสัมพันธ์ คนรักและครอบครัว รองลงมาคือ สงสัยว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าและสอบถามข้อมูลเรื่องกระบวนการรักษา การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า การเรียน การเงิน ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่ขอรับคำปรึกษาผ่านทาง Inbox ของ Facebook Page และสายด่วน Depress We Care บางรายอยู่ต่างประเทศและให้ข้อมูลว่าค้นพบช่องทางการให้บริการของโรงพยาบาลตำรวจนี้ผ่านการสืบค้นข้อมูลทาง http://www.google.com จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

การให้บริการของ Depress We Care เน้นให้ความสำคัญเรื่องการเก็บรักษาความลับ โดยรายละเอียดส่วนบุคคลและเรื่องราวปัญหาที่ขอรับคำปรึกษาของผู้ขอรับบริการจะถูกเก็บรักษาไว้เป็นความลับไม่มีนำไปเปิดเผยที่ใด หากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ขอรับคำปรึกษา เว้นแต่พบว่าผู้ขอรับคำปรึกษามีความเสี่ยงที่จะกระทำอัตวินิบาตกรรมในขณะขอรับคำปรึกษา ซึ่งทาง Depress We Care จำเป็นต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยอาศัยความร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ

ได้แก่ หน่วยกู้ภัยเอกชน สายด่วนแจ้งเหตุ 191 สถานีตำรวจที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์ ที่เป็นโรงพยาบาลในสังกัดโรงพยาบาลตำรวจและมีนักจิตวิทยาประจำอยู่ ซึ่งจากความร่วมมือที่ Depress We Care ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดีนั้น ทำให้ในการดำเนินงานที่ผ่านมา Depress We Care สามารถเข้าไปให้การดูแลช่วยเหลือผู้ขอรับบริการได้อย่างทันท่วงที

การเพิ่มช่องทางให้บริการผ่าน Depress We Care ของโรงพยาบาลตำรวจจึงสามารถช่วยให้ข้าราชการตำรวจ ครอบครัวตำรวจและประชาชนทั่วไปเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพจิตได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น สามารถสื่อสารให้คนในสังคมมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาทางสุขภาพจิต กล้าที่จะเข้ามาขอรับคำปรึกษาผ่านทาง Inbox ของ Facebook Page และสายด่วน Depress We Care โดยมิต้องกังวลว่าข้อมูลหรือเรื่องราวปัญหาของตนจะถูกเผยแพร่

รวมถึงมีความมั่นใจและกล้าเข้าสู่กระบวนการรักษาทางจิตเวชที่เป็นระบบ นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มจำนวนผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากหลังจากขอรับคำปรึกษาผ่านทาง Inbox ของ Facebook Page หรือสายด่วน Depress We Care ผู้ขอรับคำปรึกษาส่วนหนึ่งมีความประสงค์ที่จะเข้ามาขอรับบริการที่ห้องตรวจโรคจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ

นอกจากนี้แม้โรงพยาบาลตำรวจจะตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครและมีโรงพยาบาลเครือข่ายเพียง 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลดารารัศมี โรงพยาบาลนวุฒิ และโรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์ ซึ่งข้อจำกัดนี้อาจทำให้ข้าราชการตำรวจ ครอบครัวตำรวจ และประชาชนทั่วไปที่มิได้อยู่ใกล้เคียงมีความยากลำบากในเข้าถึงการบริการ แต่การที่โรงพยาบาลตำรวจเพิ่มช่องทางการทำงานในเชิงรุกโดยเข้าร่วมเป็นหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงผ่าน Because We Care และการเพิ่มช่องทางให้บริการทางด้านสุขภาพจิตผ่าน Facebook Page และสายด่วน Depress We Care หมายเลขโทรศัพท์ 081-932-0000 นั้น ทำให้โรงพยาบาลตำรวจสามารถขยายพื้นที่ในการให้บริการได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งสามารถเพิ่มศักยภาพในการให้บริการผู้ป่วยแบบองค์รวมผ่านการประสานงานส่งต่อระหว่าง Because We Care และ Depress We Care ซึ่งหากพบว่าผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่ขอรับความช่วยเหลือผ่าน Because We Care ได้รับการส่งตัวเพื่อรับการประเมินและตรวจรักษาที่ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจนั้นมีภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาทางด้านสุขภาพจิตซึ่งเป็นอาจผลมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

หรือหาก Depress We Care พบว่า ปัญหาทางสุขภาพจิตของผู้ที่ขอรับคำปรึกษาเป็นผลมาจากการตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงประเภทต่างๆ ทั้งสองหน่วยงานจะมีการประสานงานระหว่างกันเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมและดีที่สุด โดยยึดหลักผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง และอาศัยการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลายครอบคลุมทั่วประเทศ

ดังที่กล่าวมาข้างต้น การขยายช่องทางให้บริการในเชิงรุกของโรงพยาบาลตำรวจผ่านสื่อสังคมออนไลน์ Facebook Page : Because We Care และ Depress We care ที่สามารถแพร่หลายได้ทั่วโลกและเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว จึงเป็นการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับประเทศไทยยุค 4.0 เพราะสามารถทำให้ข้าราชการตำรวจและครอบครัว รวมถึงประชาชนทั่วไปเข้าถึงการบริการของโรงพยาบาลตำรวจได้แม้อยู่ห่างไกลกัน

ขอบคุณที่มาจาก Because We Care และ Depress We Care

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน