กรณีสพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าช่วยเหลือเต่าตนุ เพศเมีย อายุ 25 ปี ถูกทิ้งอยู่ในบ่อเลี้ยงอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พบมีเหรียญเงินอัดเป็นก้อนอยู่ในช่องท้อง เตรียมผ่าตัดช่วยชีวิตนั้น

 

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ กล่าวว่า เบื้องต้นอาการของเต่าตัวดังกล่าวยังเป็นเหมือนเดิม คือ นิ่งเฉย ขาซ้ายไม่ขยับ เมื่อตรวจสอบซีทีสแกนพบเหรียญเงินหลายเหรียญ กว้างกว่า 20 เซนติเมตร และจับตัวเป็นก้อนพังผืดอยู่ใกล้กระเพาะอาหาร ทั้งนี้ได้ปรึกษากับทีมแพทย์ยืนยันว่าต้องมีการผ่าตัด โดยจะเตรียมการผ่าตัดอีกประมาณ 2 อาทิตย์เพื่อให้เต่ามีร่างกายที่แข็งแรงขึ้นพร้อมทนกับยาสลบ

“ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำสถิติว่ามีสัตว์จำนวนมากน้อยเพียงใดที่ต้องประสบปัญหากินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย แต่เราจะพบอยู่เป็นประจำทั้งในวัด สวนสาธารณะ สวนสัตว์ รวมทั้งในพื้นที่ธรรมชาติ เช่นในทะเล มีทั้งจระเข้ ฮิปโป เต่า ปลากระเบน สิ่งที่เราตรวจพบในร่างกายสัตว์มีทั้งเหรียญ เศษพลาสติก ขยะทะเล ที่แปลกๆ ก็จะมีพวงมาลัย หัวตุ๊กตาขนาดเล็ก เป็นต้น” สพ.ญ.ดร.นันทริกา

 

สพ.ญ.ดร.นันทริกา กล่าวต่อว่า สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้จะทำให้สัตว์มีอันตรายถึงชีวิต หากสัตว์สามารถขับถ่ายได้สัตว์ก็จะไม่เป็นไร แต่จะมีอาการท้องผูก แต่หากสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดตันในช่องท้องอาจทำให้สัตว์ตายได้ จึงอยากขอร้องให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ไปตามสถานที่ต่างๆ อย่าโยนเหรียญลงไปในบ่อที่มีสัตว์อยู่ อย่าโยนเหรียญเพียงเพราะเสี่ยงทายด้านโหรศาสตร์ เพราะเป็นการเสี่ยงทายที่ผิดรูปแบบ หากสัตว์ได้รับความเดือดร้อน ก็จะถือว่าเป็นการทำบาป หรือหากเกิดอุบัติเหตุทำสิ่งของตกลงไปในบ่อก็ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่รับทราบทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน