WHO หนุนทั่วโลกจัดการปัญหาภัยเหล้ามือสอง เหล้า-เบียร์สร้างปัญหาหนักกว่ายาเสพติด ชมไทย ผู้นำด้านการวิจัย ต่อยอดสู่นโยบาย สสส.-IHPP-ศวส. เปิดผลวิจัย คนไทยกว่า 80% ถูกภัยเหล้ามือสองคุกคาม “นักดื่ม 1 คนส่งผลกระทบต่อผู้อื่นถึง 2.4 คน” ถูกคุกคามไม่ปลอดภัย 40% แถมต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าเสียหายจากถูกนักดื่มคุกคามเฉลี่ย 8,500 บาท/คน/ปี เร่งจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ พัฒนานโยบายควบคุมการเข้าถึง-ส่งเสริมการขาย-บำบัดเยียวยานักดื่ม

 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณะสุข และศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จัดแถลงข่าว “เหล้ามือสอง: ผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ในยุคโลกเสรีและสังคมไทย” ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก และ สสส. โดย นายแด๊ก เรคเว้ นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายการจัดการปัญหายาเสพติด องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกนักดื่มมีประมาณ 38% ของประชากรโลก ในทางกลับกันคือมีคนที่ไม่ดื่มมากถึง 62% ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลก องค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหาผลกระทบจากแอลกอฮอล์

 

โดยมียุทธศาสตร์โลกว่าด้วยการลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ให้ความสำคัญในการปกป้องสิทธิและสุขภาพของผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งปัญหาสุขภาพ การบาดเจ็บ หรือถูกละเมิดสิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรเปราะบาง เช่น เด็กและเยาวชน ซึ่งผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อผู้อื่นเป็น 1 ใน 4 หัวข้อสำคัญที่องค์การอนามัยโลก เร่งสนับสนุนให้ทำการศึกษาเพื่อนำข้อมูลไปใช้พัฒนานโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นผู้นำระดับโลกที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบแอลกอฮอล์ นอกจากเป็นผู้นำแล้ว ยังให้การสนับสนุนองค์การอนามัยโลกหลายด้าน ทั้งการศึกษางานวิจัย การขับเคลื่อนการควบคุมแอลกอฮอล์

 

ศ.โรบิน รูม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายแอลกอฮอล์ มหาวิทยาลัยลาโทรบ ประเทศออสเตรเลีย นักวิจัยอาวุโสระดับโลกในด้านปัญหาและนโยบายแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ที่ผ่านมางานวิจัยเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ สนใจที่ผลกระทบโดยตรงที่เกิดกับตัวผู้ดื่มเป็นหลัก ซึ่งเป็นการศึกษาเพียงด้านเดียว แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่าน มีกลุ่มนักวิจัยกว่า 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาผลกระทบของผู้ดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในสังคม เช่น ถูกรบกวนก่อความรำคาญ ถูกทำร้ายร่างกาย ทรัพย์สินถูกทำให้เสียหาย โดยสารรถที่คนขับดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ เหมือนควันบุหรี่มือสอง ที่คนไม่่สูบได้รับผลกระทบ ซึ่งผลวิจัยมีข้อค้นพบสำคัญ คือ ทุกประเทศมีผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่มจำนวนมาก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อผลกระทบเชิงลบต่อสังคมมากกว่ายาเสพติดชนิดอื่นๆ เป็นการตอกย้ำว่า การมีนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งระดับประเทศและระดับโลก มีความสำคัญต่อการลดปัญหาผลกระทบเหล่านี้

 

ด้าน ภญ.อรทัย วลีวงศ์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์ภัยเหล้ามือสองต่อสังคมไทย โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,695 คน ในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และกรุงเทพฯ โดยคนไทยมากกว่า 80% เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มของคนอื่น (ภัยเหล้ามือสอง) เช่น คนในครอบครัว เพื่อน คนแปลกหน้า ขณะที่คนไทยดื่มแอลกอฮอล์ มีประมาณ 33% อาจกล่าวได้ว่า “นักดื่มหนึ่งคนส่งผลกระทบต่อผู้อื่นรอบข้างถึง 2.4 คน” ผลกระทบส่วนใหญ่เป็นผลกระทบทางด้านจิตใจและความรู้สึกไม่ปลอดภัยมากถึง 30-40% เช่น รู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดกลัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้าที่ดื่มตามถนนหรือในสถานที่สาธารณะ เคยต้องตื่นกลางดึก/นอนไม่หลับ เพราะเสียงดังจากวงสุราหรือคนเมาบริเวณบ้าน/ชุมชน หรือเคยถูกคนดื่มพูดจาหยาบคายใส่ ส่วนผลกระทบทางด้านสังคมและการดำเนินชีวิต สูงเป็นอันดับ 2 เช่น คนดื่มไม่ทำงานที่ได้รับมอบหมาย 30% มีปัญหากับเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่ดื่ม 10%

 

ภญ.อรทัย กล่าวต่อว่า ผลกระทบทางด้านการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ 22% เช่น เงินไม่พอใช้ ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือถูกขโมย จากการคำนวณมูลค่าความเสียหายที่ผู้ได้รับผลกระทบต้องควักกระเป๋าหรือสูญเสีย มีมูลค่าประมาณ 8,500 บาทต่อรายต่อปี และผลกระทบจากถูกทำร้ายร่างกายและทางเพศ 6% นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังได้รับผลกระทบจากเหล้ามือสอง 25% เช่น ถูกดุด่าอย่างรุนแรง 7% อยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว 7% ถูกทอดทิ้ง/ถูกปล่อยให้อยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัย 4% ถูกตี/ทำร้ายร่างกาย 2% ความรุนแรงเหล่านี้ ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและใจ คุณภาพชีวิตและพัฒนาการของเด็ก ตลอดจนผลต่อการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย

 

“งานวิจัยนี้นับเป็นการศึกษาแรกของไทยที่สำรวจผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อผู้อื่นอย่างรอบด้าน 360 องศา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่อยู่ซ่อนอยู่ในรั้วบ้าน ในกลุ่มเพื่อน ในที่ทำงาน หรือในชุมชน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงระดับสังคมและประเทศชาติ เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในสังคม รวมถึงการปกป้องสิทธิมนุษยชนจากภัยต่างๆ ที่เกิดจากแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะสิทธิเด็กและเยาวชน จึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักในเรื่องนี้แก่สังคมมากขึ้น โดยควรมีมาตรการป้องกัน ลดจำนวนและความรุนแรงของปัญหาที่เกิดต่อทั้งตัวผู้ดื่มและผู้อื่น ซึ่งไม่ควรจำกัดเฉพาะแค่การจัดการรายเหตุการณ์ปัญหา เช่น การกำหนดบทลงโทษต่อผู้ดื่มที่กระทำผิด แต่ควรให้ความสำคัญกับนโยบายและมาตรการจัดการที่ปัจจัยแอลกอฮอล์และปัจจัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยต้นเหตุ” ภญ.อรทัย กล่าว

 

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับปัญหาผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งตัวผู้ดื่ม และผู้ได้รับผลกระทบในครอบครัว และสังคม ผลวิจัยชิ้นนี้ ทำให้สังคมไทยได้รับรู้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงผลเป็นตัวเลขระดับความรุนแรงของปัญหาจากการดื่มว่ามีมากขนาดไหนและการดื่มได้ซ่อนปัญหาเหล้ามือสองไว้มากมาย ทั้งการดื่มแล้วขับ ทะเลาะวิวาท รวมไปถึงความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเหยื่อจากภัยเหล้ามือสองที่ถูกละเลยในสังคมจะได้รับความช่วยเหลือ โดย สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะศึกษาผลวิจัยมาเพื่อพัฒนานโยบายควบคุมและป้องกันปัญหาที่เกิดจากภัยเหล้ามือสองทั้งในมิติของผู้ดื่ม และประชาชนทั่วไป เช่น การควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการส่งเสริมการขาย ซึ่งมีประสิทธิผลในการลดการบริโภคแอลกอฮอล์ รวมทั้งการพัฒนาระบบช่วยเหลือเยียวยากล่มผู้ได้รับผลกระทบให้ได้รับความคุ้มครองด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน