คนไทยฆ่าตัวตาย ปีละ 5.3 หมื่นคน เฉลี่ย 6 คน/ชม. แนะแนวทางการป้องกัน

วันที่ 15 พ.ค. ที่อาคารไอราวัตพัฒนาศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 7 ประจำปี 2562 โดยมีพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. คณะผู้บริหาร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานคร ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพและจิตเวช จากรายงานสถานการณ์ของกรมสุขภาพจิต ได้ประเมินสถานการณ์ของประเทศไทยว่าแต่ละปี มีผู้พยายามทำร้ายตัวเอง เพื่อฆ่าตัวตาย ปีละ 53,000 คน เฉลี่ย ชั่วโมงละ 6 คน ทำสำเร็จปีละ 4,000 คน ก่อความสูญเสียปีละ 400 ล้านบาท

ซึ่งปัญหากลุ่มผู้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราและสารเสพติด ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคจิตเภท ผู้ที่เคยฆ่าตัวตายมาแล้ว ผู้ที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ 4-100 เท่าตัว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ขณะที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต รายงานสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตและจิตเวชของประชากรในเขตกรุงเทพฯ ประมาณการจำนวนประชากรที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชและการเข้าถึงบริการ ดังนี้ โรคติดสุรา 196,691 คน เข้าถึงบริการ 3,973 คน โรคจิตเภท 37,266 คน เข้าถึงบริการ 19,926 คน และโรคซึมเศร้า 238,011 คน เข้าถึงบริการ 24,375 คน

โดยในปีงบประมาณ 2561 มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ เข้ารับการรักษาแบบผู้ฝ่วยนอก ที่สถาบันสมเด็จฯ ดังนี้ โรคจิตเภท 7,320 คน 38,078 ครั้ง โรคซึมเศร้า 2,424 คน 10,276 ครั้ง โรควิตกกังวล 1,935 คน 6,407 ครั้ง โรคอารมณ์สองขั้ว 1,010 คน 4,970 ครั้ง และภาวะปรับตัวผิดปกติจากการเผชิญความเครียด 823 คน 2,131 ครั้ง

ทั้งนี้คนกรุงเทพฯ มีคนป่วย 1 ใน 8 คน ร้อยละ 12 เป็นโรคจิตอย่างใดอย่างหนึ่งและมีจำนวนน้อยมาก ที่เข้ารับการรักษา กทม. ยังไม่มีโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่ดูแลแบบเฉพาะทาง รวมทั้งยังไม่มีสถานที่รับรองผู้ป่วยโรคจิต ที่เป็นผู้ไร้ที่พึ่งด้วย

นอกจากนี้ที่ผ่านมา เมื่อผ่านการรักษาจากรพ.หรือสถาบันมาแล้ว มักจะนำมาไว้ที่บ้านอิ่มใจ ซึ่งเป็นบ้านดูแล ซึ่งเป็นที่พัก สำหรับคนไร้บ้าน ซึ่งบ้านอิ่มใจ ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลเฉพาะ สำหรับผู้ป่วยโรคจิตโดยตรง จึงอาจทำให้ผู้ป่วยที่พักในบ้านอิ่มใจ ไม่หายขาดและอาจเกิดผลกระทบผู้อาศัยและประชาชนทั่วไปเกิดขึ้นได้

จากการข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ว่าคนไทยอยู่ในภาวะปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชค่อนข้างสูงดังนั้นเพื่อเป็นการลดปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์ประชาชนในสังคมปัจจุบันเห็นควรให้สภากรุงเทพมหานคร ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพและจิตเวช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน