บช.ตชด.-กสศ. ลงนามเอ็มโอยู ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พล.ต.ท.วิชิต ปักษา รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมนพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงาน “โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไข และพัฒนาคุณภาพครู” ระหว่าง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน( บช.ตชด.) และ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้กับโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนทั้ง 218 แห่งทั่วประเทศ

พล.ต.ท.วิชิต เปิดเผยว่า โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนประสบภาวะความยากลำบากต่อการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครู การจัดการเรียนการสอน และคุณภาพของเด็กนักเรียน ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือกับกสศ.ในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนและให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค

ปัจจุบันมีสถานศึกษาในสังกัด บช.ตชด. รวมทั้งสิ้น 218 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียน ตชด. จำนวน 168 โรง และศูนย์การเรียน ตชด. จำนวน 50 ศูนย์ โดยกว่าร้อยละ 20 เป็นโรงเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร รถยนต์ธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงได้ยิ่งในฤดูฝนยิ่งเดินทางยากลำบาก อีกทั้งนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนด้อยโอกาส และส่วนหนึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่รู้ภาษาไทย เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการจัดการการเรียนการสอน

พล.ต.ท.วิชิต กล่าวต่อว่า อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาที่เพียงพอ เนื่องจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนไม่ใช่หน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา ทำให้โรงเรียนสังกัด บช.ตชด. มีข้อจำกัดในเรื่องการบริหารและจัดการศึกษามาโดยตลอด นอกจากนี้ยังพบว่า ครู รร.ตชด.ส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิทางการศึกษา หรือความรู้ที่ไม่ตรงตามสาขาวิชา ที่ผ่านมาได้มีความพยายาม พัฒนาครู รร.ตชด. ให้ได้รับวุฒิทางการศึกษา เช่น การให้ทุนสนับสนุน การปรับเวลาเรียนให้สอดคล้องกับสภาพการทำงาน การศึกษาทางไกล

แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆด้าน ภาระงานที่หนักด้วย จึงทำให้ครูส่วนหนึ่งต้องตัดสินใจหยุดการศึกษากลางคัน อีกทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เนื่องจากที่ตั้งของโรงเรียนบางแห่งอยู่ในพื้นที่สูง ห่างไกลการคมนาคม ทำให้ไม่สามารถศึกษาต่อจนจบหลักสูตรได้ ซึ่งความร่วมมือกับกสศ.ในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนและให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการเรียนการสอนและช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ให้ดียิ่งขึ้น

ด้านนพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ตลอดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาครูสังกัด ตชด.กว่า 2,000 คน จาก 218 โรงเรียน ได้ลงพื้นที่ค้นหา คัดกรองนักเรียนที่มีความยากลำบากซึ่งอยู่ในพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน โดยกรอกข้อมูลลงในระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ iSEE ของกสศ.

ทำให้ขณะนี้กสศ.มีฐานข้อมูลที่สามารถชี้เป้านักเรียนที่มีความยากลำบากในรร.ตชด. ที่แสดงสถานะความยากจนด้อยโอกาส ภาระพึ่งพิง สภาพที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งระบบการคัดกรองจะเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับโรงเรียนสังกัดอื่นๆ ที่ร่วมโครงการกับกสศ.ทั้งหมด และสามารถติดตามผลการช่วยเหลือได้เป็นระยะ ทั้งการมาเรียน ผลการเรียน สุขภาพ ได้ตลอดเวลา

ที่ผ่านมานักเรียนในโรงเรียนสังกัด บช.ตชด. ไม่เคยได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนมาก่อน ในขณะที่สภาพความเป็นจริงนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะทางบ้านยากจนด้อยโอกาส และอาจให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาของบุตรหลานค่อนข้างน้อย เพราะต้องดิ้นรนทำงานเพื่อการยังชีพเป็นหลัก ประกอบกับสภาพพื้นที่อยู่อาศัยมีความยากลำบากในการเดินทาง ทำให้นักเรียนเหล่านี้มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา

ซึ่งภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ในปีการศึกษา 2562 กสศ.จะจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคในโรงเรียนสังกัด บช.ตชด. โดย ล่าสุด ครูตชด.ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน บันทึกข้อมูลนักเรียนเข้ามาในระบบ iSEE จำนวน 15,787 คน คัดกรองเรียบร้อยแล้วจำนวน 13,037 คน คิดเป็นร้อยละ 82 โดยนักเรียนกลุ่มนี้ มาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 /คน/เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลผลการคัดกรองโดยจะมีการแจ้งรายชื่อนักเรียนทั้งหมดที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองของ กสศ.ภายในปลายเดือน ก.ค.นี้

“เนื่องจากนักเรียนกลุ่มนี้ไม่เคยได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนมาก่อนดังเช่นนักเรียนสังกัดสพฐ.และอปท. ในปีการศึกษา 2562 กสศ. จึงจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติม แบ่งเป็น นักเรียนระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา จัดสรรในภาคเรียนนี้ 1,500 บาทต่อคน นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา จัดสรรภาคเรียนละ 2,500 บาทต่อคน โดยทั้งหมดนี้จะอุดหนุนไปที่นักเรียนโดยตรง 50% เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการครองชีพ ค่าเดินทาง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้ได้ ขณะที่อีก 50% จัดสรรให้กับทางโรงเรียนเป็นค่าอาหาร ค่ากิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตเพื่อทางโรงเรียนนำไปขยายผล นำเงินอุดหนุนไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเด็กนักเรียนอย่างยั่งยืนได้ ทั้งนี้หากภาคเอกชนรายใดสนใจที่จะร่วมบริจาค สมทบเพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กสศ.หมายเลขโทรศัพท์ 0-2 079-5475”

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา ของกสศ. กล่าวว่า กสศ. ยังสนับสนุนทางด้านวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการพัฒนาประสิทธิภาพ คุณภาพของครูในโรงเรียนสังกัด บช.ตชด. เช่น การพัฒนาครูประจำการ การเพิ่มทักษะด้านวิชาการ เทคนิคการเรียนการสอน การเพิ่มวุฒิการศึกษาให้จบปริญญาตรี นอกจากนี้ กสศ. ยังมีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อสนับสนุนทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจนด้อยโอกาสจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศในพื้นที่ห่างไกลที่อยากเป็นครู

ด้วยการสนับสนุนทุนให้แก่นักศึกษา รุ่นละ 300 ทุนทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 ทุน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป ดังนั้นนักเรียนที่จบจากโรงเรียน ตชด. ที่มีความต้องการที่จะเป็นครู มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ก็สามารถที่จะขอรับทุนจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และเมื่อเรียนจบก็จะได้กลับมาเป็นครูในพื้นที่ชุมชนตัวเอง ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาครูประจำการโยกย้ายบ่อยในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่น ลดปัญหาความเลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ๆ ห่างไกลได้ ตลอดจนเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิศมัย รัตนโรจน์สกุล หัวหน้า โครงการศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนารูปแบบและวิธีการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครูในถิ่นทุรกันดาร กล่าวว่า จากข้อมูลปี 2562 ครูใน รร.สังกัด บช.ตชด.ประมาณ1,457 คน พบว่า จบปริญญาร้อยละ 64 ไม่จบปริญญามีถึงร้อยละ 36 ที่เป็นวุติทางการศึกษามีเพียงร้อยละ 25 และไม่มีวุฒิทางการศึกษาร้อยละ 75 ผลการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ครูที่ไม่มีวุฒิทางการศึกษามีความต้องการศึกษาต่อเพื่อให้มีคุณวุฒิทางวิชาชีพครูเพิ่มขึ้น เพราะจะได้เรียนรู้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามหลักวิชาการ

นอกจากนี้ยังพบว่า ยังมีความต้องการสื่อและอุปกรณ์ทางการเรียนการสอนเพื่อให้เพียงพอและเหมาะสมสำหรับการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่เด็กนักเรียน อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจเบื้องต้นนี้ กสศ. ควรที่จะนำข้อค้นพบไปวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้การเกิดการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ตชด.ทั้ง 218 แห่ง ทั่วประเทศได้อย่างเหมาะสมต่อไป


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน