เมื่อ ประเทศไทย ต้องการแข่งขันกับเวทีโลก ต้องการมีเศรษฐกิจที่ดี เพื่อแข่งขันกับเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในการดึงดูดนักลงทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศไทยจะสามารถสร้างจุดขายให้ประเทศได้หรือไม่ ในการดึงดูดนักลงทุน ซึ่ง “อีอีซี” ดูเหมือนจะเป็นโอกาสที่เข้าใกล้ความจริงที่สุดของไทย

แต่อย่างไรก็ตาม เหมือนวิบากกรรมประเทศ ที่จะทำให้เจริญนั้นยากยิ่งนัก กับกลุ่มคนที่ชูวลีที่ว่า “รัฐเอื้อนายทุน” ทำให้ตั้งเวทีไปพลาง ปากบอกไม่ขัดขวางการพัฒนา แต่กริยาล้วนทำลายความเชื่อมั่นประเทศ ทำให้ดูเหมือนว่า อีอีซีของไทยจะไม่ง่ายอย่างที่คิด

คำว่า “ค่าโง่” ของโครงการโฮปเวลล์ สอนอะไรคนไทยบ้าง ในยุคนั้น ต้องบอกว่า กอร์ดอน วู เสนอแนวความคิดสร้างทางรถไฟและถนนยกระดับเข้ามาในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ แก้ปัญหาจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ อย่างเบ็ดเสร็จนั้นน่าสนใจมาก เพราะเป็นความคิดที่ล้ำยุคไปก่อนหน้าถึง 20 ปี

เสียอย่างเดียว ผู้รับสนองนโยบายนี้มีความรู้สึกว่าโครงการนี้เป็นโครงการของรัฐบาล ทำไมคนอื่น ๆ ต้องมารับงานหนัก จัดการประสานงาน แก้ไขปัญหาแนวเส้นทางที่ติดขัดเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินตลอดแนวเส้นทางรถไฟที่โฮปเวลล์ได้รับสัมปทานไป ทำให้ส่งมอบที่ดินไม่สำเร็จ ล้มไม่เป็นท่า ซึ่งอันที่จริงแล้วค่าโง่โครงการโฮปเวลล์ ที่ถูกเรียกร้องให้ชดใช้เป็นมูลค่า 11,888 ล้านบาทนี้ ไม่น่าเรียกว่า “ค่าโง่” แต่ควรเรียกว่า เป็นค่าเสียหายที่ไม่รักษาสัญญา ทำให้คนไม่กล้ามาทำโครงการกับรัฐบาลไทย หากผิดสัญญาแล้วชดใช้ ควรเรียกว่า ค่าโกง หรือ ค่าชดเชยการผิดสัญญา ซึ่งเห็นชัดว่า..ไม่ใช่ค่าโง่!

โครงการรถไฟไฮสปีด 3 สนามบิน ก็มีความคล้ายคลึงในหลายประเด็น โดยเฉพาะเมื่อการรถไฟ ไม่กล้ารับปากว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ 100% โดยพยายามบอกว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ได้ 50% ของพื้นที่ทั้งหมด เพราะกลัวว่าถ้าส่งมอบพื้นที่ไม่ได้จะถูกฟ้อง

แต่ถ้าพูดในมุมของนักลงทุน ใครจะกล้าเสี่ยงมาลงทุนกับคู่สัญญาที่ไม่รับรองว่าจะส่งที่ดินมาให้ทำโครงการได้

และที่สำคัญ การก่อสร้างรถไฟใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี แต่หากส่งมอบที่ดินช้าไป 2 ปี ก็จะทำให้สร้างรถไฟเสร็จในปีที่ 7 แทนที่จะเป็นปีที่ 5 ทำให้แบกดอกเบี้ยไปอีก 2 ปี ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่รู้ว่า 2 ปีจะส่งมอบที่ดิน 100% ได้หรือไม่ และหากครบ 2 ปีส่งมอบไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้น และถ้าเกิดบอกว่า จ่ายค่าปรับแทนการส่งมอบที่ดิน คนที่จะเดือดร้อนสุดคือนักลงทุนที่กู้เงินมาก่อสร้าง เพราะโครงการนี้นอกจากสัญญาจะเสียเปรียบรัฐในทุกประตู และเอกชนต้องจ่ายล่วงหน้าไปก่อนทั้งหมด ยังต้องแบกรับข้อครหารัฐเอื้อเอกชน ทั้งที่มีความเสี่ยงนานัปการ

อีกประเด็นที่สำคัญคือ หากการเมืองไม่นิ่ง โครงการใหญ่ระดับหลายแสนล้านจะเสี่ยงมหาศาล เพราะหากนักการเมืองจากหลากหลายพรรค มองว่า “อีอีซี” คือนโยบายพรรคใดพรรคหนึ่ง และที่สำคัญคือไม่สนใจผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง กระทรวงตลอดจนผู้รับนโยบายมาก็ทำต่อไม่ได้หรือไม่ได้สนใจจะทำต่อด้วย โครงการที่มีแนวคิดที่อาจจะเป็นประโยชน์ ก็พังทลายไปได้ง่าย แถมยังมีฝ่ายค้านคอยหาช่องสกัดผลงานรัฐบาล ทำให้นักลงทุนที่จะมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศ ต้องรับความเสี่ยงไปเต็ม ๆ จากแรงกดดันทุกทาง

เสียงสะท้อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ในการดึงดูดนักลงทุน ต่างพูดว่า มาประเทศของเขาเถอะ โดยมีนโยบายดึงดูดการลงทุนมากมายให้กับภาคเอกชน มีการลดหย่อนภาษี มีการร่วมจ่ายเงินให้บุคลากรคุณภาพ ขอให้กลับมาทำงานให้ประเทศของเขา มีข้อยกเว้นทางกฏหมายมากมายที่พร้อมดึงดูดนักลงทุนขนาดใหญ่ ให้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศของเขา ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หลายประเทศในอาเซียนใจกว้าง ไม่แสลงกับคำว่า รัฐเอื้อเอกชน…

ต่างกับ ประเทศไทย ที่รับไม่ได้กับการสนับสนุนการลงทุนกับเอกชน กลัวรัฐจะเอื้อนักลงทุน กลัวผลประโยชน์จะตกไปอยู่กับนักลงทุนจนลืมคำว่า วิน วิน เพราะเรามักจะชินกับการต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ นี่ก็ไม่แปลกที่คนไทยเล่นกีฬาแบบเดี่ยวเก่งยิ่งนัก แต่พอเล่นเป็นทีม เรามักแพ้ เพราะไม่ชินกับคำว่า วิน วิน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยอาจถึงทางแยก ที่หากลืมความขัดแย้ง เปิดใจให้ “อีอีซี” เราก็อาจเป็นผู้นำในภูมิภาค แต่หากยังสกัดแข้ง สกัดขา ไม่ทำให้อีอีซีเป็นวาระแห่งชาติ ยังมาเถียงกันว่าควรทำหรือไม่ ประเทศไทยคงหมดจุดขาย แล้วอีก 10 ปีข้างหน้า อย่ามาเสียดายที่ไม่ได้ทำ เพราะทางแยกนี้หากทำสำเร็จ ประเทศไทยจะมีความเจริญไปอีกหลายสิบปี คงต้องร่วมลุ้นกับประเทศไทยต่อไป!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน