บิ๊กป้อม ดันกฎหมายป่าชุมชน เป้า 5 ปีตั้ง 15,000 แห่ง ดึงประชาชนร่วมดูแล

บิ๊กป้อม / วันที่ 3 ต.ค. ที่ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายป่าชุมชน ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ครั้งที่ 1/2562 พร้อมนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนาย จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

พิจารณาแผนการออกกฎหมายอนุบัญญัติ เพื่อเร่งขับเคลื่อนดำเนินการใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ในการส่งเสริมสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการป่าที่อยู่ใกล้ชุมชน วางเป้าหมาย 5 ปี ให้มีการจัดตั้งป่าชุมชน 15,000 ป่าชุมชน โดยมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน และจะมีพื้นที่ป่าที่อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการป่าชุมชนเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านไร่ ภายใต้การดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562

กฎหมายป่าชุมชน เป็นกฎหมายที่ประชาชนรอคอยกันมานานกว่า 28 ปี รัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้มีการขยายป่าชุมชนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการปฏิรูปเร่งรัด การออกกฎหมายป่าชุมชน รัฐบาลโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนขึ้นมาอีกครั้ง โดยปรับชื่อเป็น ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนนอกเขตอนุรักษ์ แต่เนื่องจาก สปช. หมดวาระ

ดังนั้นสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้นำร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนมาผลักดันต่อ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาออกกฎหมาย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 และได้ผ่านกระบวนการพิจารณากฎหมาย และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562

พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 มีเจตนารมณ์ให้บุคคลและชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน เกิดสำนึกในการดูแลรักษาและจัดการป่าชุมชนร่วมกับภาครัฐอย่างมีส่วนร่วม มุ่งหมายเพื่อกำหนดสาระแห่งสิทธิของบุคคลและชุมชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟู บำรุงรักษา ตลอดจนการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เพื่อรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ให้คงอยู่เป็นมรดกทางธรรมชาติของประเทศและของมนุษยชาติสืบไป

สำหรับโครงสร้างการบริหารตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จะเป็นในรูปแบบคณะกรรมการ 3 ระดับ เพื่อความรอบคอบและถ่วงดุล สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจ ซึ่งกันและกัน ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน 2) คณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัด 3) คณะกรรมการจัดการป่าชุมชน

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการออกแผนกฎหมายอนุบัญญัติ ประกอบด้วย กฎกระทรวง 2 ฉบับ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน 17 ฉบับ และประกาศคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน 1 ฉบับ อาทิ เช่น กฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กฎกระทรวงกำหนดไม้ทรงคุณค่า ระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนว่าด้วยหลักเกณฑ์กำหนดการปกครองดูแลบำรุงรักษาใช้ประโยชน์จากไม้และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน ระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนว่าด้วยการตรวจสอบติดตามและประเมินผลการจัดการป่าชุมชนในจังหวัดและการจัดทำรายงาน รวมถึงเห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นของร่างกฎกระทรวงตามที่ฝ่ายเลขาการประชุมเสนอ

ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการจัดตั้งป่าชุมชน ด้านต่างๆ
1) ด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่น การดำรงชีพตามหลักปรัชญา เศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ฐานทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นอย่างถูกต้อง

และเหมาะสม เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ของครัวเรือน มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชนในรูปแบบ วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชน เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชน และนำรายได้บางส่วนคืนสู่ป่าโดยเป็นกองทุนหรือทรัพย์สินส่วนกลางไว้ใช้ในการดูแลรักษาป่าชุมชนต่อไป

2) ด้านสังคม ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน หลายชุมชนได้รับประโยชน์จากป่าชุมชนทางด้านสังคมแตกต่างกันไป ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความร่วมมือดำเนินกิจกรรมจัดการป่าอันเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม การพัฒนาอาชีพตามศักยภาพของชุมชน ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง แรงงานคืนถิ่น เกิดความอบอุ่นในสถาบันครอบครัว มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ ส่งผลให้ชุมชนสงบสุขและอยู่ร่วมกันด้วยความรักความสามัคคี

3) ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่ป่าชุมชนได้รับการดูแลรักษา ช่วยลดการคุกคามพื้นที่ป่า รวมทั้งช่วยฟื้นฟูสภาพป่าให้ดีขึ้น ตลอดจนทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะพืชอาหารและพืชสมุนไพรในพื้นที่ป่าชุมชน รวมทั้งเป็นการแก้ไข บรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น โคลนถล่ม น้ำท่วม ภัยแล้ง และที่สำคัญยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร คืนความชุ่มชื้นสู่ผืนป่า สัตว์ป่า ได้อยู่อาศัย ชุมชนได้ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน