เป็นกระทรวงเกรดเอ ที่ถูกสังคมจับตามองด้วยความเป็นห่วง สำหรับกระทรวงคมนาคมในยุคที่รัฐมนตรี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” กำกับดูแล เนื่องจากภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่กว้างขวาง เอาแค่เมกะโปรเจ็กต์ 44 โครงการที่มีมูลค่ากว่าล้านล้านบาท ก็เป็นภารกิจที่ใหญ่โตพอแรงไม่รวมกับการดูแลเรื่องสัญญาสัมปทานระหว่างภาครัฐกับเอกชน ที่มีมูลค่ามหาศาลเช่นกัน อีกทั้งยังต้องคอยแก้ปัญหาที่ตกค้างมาในอดีต อย่างเรื่องข้อพิพาททางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์มูลค่าความเสียหายกว่าแสนล้านบาท จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ วุฒิภาวะ มองเห็นประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง เข้ามาบริหารเพื่อให้ภารกิจสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว แต่ปัญหาก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ความพยายามรื้อแผนลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์อย่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมทั้งดึงเรื่องการเจรจาหาทางออกประเด็นข้อพิพาท “ทางด่วน” ที่ดำเนินการมาจนแล้วเสร็จออกไปอย่างไม่มีกำหนด กลายเป็นคำถามว่าเหตุใดจึงกลายเป็นเช่นนี้ และหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อประเทศชาติ ใครจะต้องเป็นผู้ตอบคำถามนี้ให้ชัดเจน!??

@ ส่อวุ่น-โละสัญญารถไฟฟ้าสีส้ม

ยึดพื้นที่ข่าวได้อย่างสม่ำเสมอ สำหรับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่มักจะมีแนวคิดโปรเจ็กต์ใหม่ๆ เรียกเสียงฮือฮาให้กับสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายยกเลิกไม้กั้นทางด่วน เพื่อแก้ปัญหาจราจรหน้าด่านเก็บเงิน การกำหนดถนนให้ใช้ความเร็วได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปรับเปลี่ยนแบบทำแบริเออร์จากยางพารา ล้วนเป็นการสร้างสีสันในทางการเมือง แต่สำหรับภารกิจหลักที่ต้องดูแล ก็ถูกจับตามองว่าคืบหน้าตามกำหนดเวลาอย่างไร อย่างกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายมีส้มตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 27 กิโลเมตร วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ที่ต้องล่าช้ามาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เมื่อมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน แทนที่จะดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องกลับมีเหตุให้ต้องชะงัก เพราะแต่เดิมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ คณะกรรมการพีพีพี ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นประธานได้เห็นชอบในหลักการให้เอกชนร่วมลงทุน ภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ในรูปแบบ PPP Net Cost (พีพีพี เน็ต คอสท์) ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวผ่านขั้นตอนตามกฎหมายมาเป็นลำดับขั้น จนแล้วจนรอดกระทรวงคมนาคมก็ไม่นำเสนอเข้าสู่ครม.!?? กระทั่งประชุมครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม หัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริง ต้ตองออกมาเร่งรัดให้เรื่องนี้เข้าสู่ครม.โดยเร็วอย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สยามเองขอเวลากลับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวคิดจะรื้อหลักการของคณะกรรมการ “พีพีพี” จากหลักการให้รัฐรับผิดชอบที่ดินก่อสร้าง เอกชนรับผิดชอบด้านงานโยธาฯ กลับมาเป็นให้รัฐรับผิดชอบเองทั้งหมด คำถามอื้ออึงจากสังคม ก็คือ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับ “พีพีพี” หรือไม่อย่างไร ?

@ ผวา ‘ธุรกิจการเมือง’

ครอบเพราะหากยกตัวอย่างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่มีเอกชนเจ้าหนึ่งได้งานไป ก็ชัดเจนแล้วว่ากรอบการลงทุนโดยให้เอกชนรับผิดชอบ และรัฐจ่ายชดเชยบางส่วน ซึ่งก็ทำได้ แต่ทำไมพอมาเป็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภาครัฐกลับอยากลงมารับผิดชอบทำเองทั้งหมด ?และหากเป็นเช่นนั้นรัฐจะใช้งบประมาณที่ไหนมารับผิดชอบ เพราะแค่ภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลประเทศในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สาธารณสุข หรือกระทั่งการทหารก็บ่นกันอยู่ตลอดว่างบประมาณไม่เพียงพอ แล้วทำไมต้องเพิ่มภาระขึ้นไปอีก ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หรืออาจต้องการ “ซอยสัญญาการประมูล” ให้ยิบย่อย แบ่งงานกันไปทำ กรณีดังกล่าวย่อมไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมของโครงการ เพราะไม่มีเจ้าภาพที่รับผิดชอบชัดเจน และจะเห็นได้ว่าทุกโครงการที่ใช้วิธีแยกประมูล ไม่สามารถเปิดบริการได้ทันตามแผนงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องรายได้อย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ ยิ่งไปกว่านั้นย่อมกระทบต่อประสิทธิภาพของการทำงานที่ไม่เป็นเอกภาพเรื่องเหล่านี้คนระดับรัฐมนตรีไม่ทราบมาก่อนเลยหรืออย่างไร จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้รับผิดชอบสูงสุด อย่างนายกรัฐมนตรี ต้องเข้ามารับผิดชอบดูแล เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนทั้งเอกชนไทยและต่างชาติ หากเมกะโปรเจ็กต์อื่นๆของรัฐบาล ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่าล้านล้านบาท ปรับเปลี่ยนตามอำเภอใจรัฐมนตรีเช่นนี้ ใครจะกล้ามาร่วมงาน-ร่วมลงทุนด้วยที่สำคัญ คือ หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องปรับเปลี่ยนไป บริษัทไหน..ของใคร ที่จะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ อย่าให้เกิดข้อครหาว่า “ธุรกิจการเมือง” กลับเข้ามาเป็นวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทยอีกครั้ง !!?

@ ป่วนอีก ‘ไฮสปีด’ 3สนามบิน

นอกจากนี้ ยังมีอีก 1 โครงการสำคัญ นั่นคือการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ดอนเมือง-อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท ที่เปรียบเสมือนเป็นหัวใจสำคัญของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) ชนะการประมูล แต่จนแล้วจนรอดยังไม่มีการเซ็นสัญญา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งยังตกลงไม่ได้ระหว่าง CPH และการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากบริษัทเอกชนเอง ก็ไม่มั่นใจว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะส่งมอบพื้นที่ให้ได้ทั้งหมด เพราะหากมีปัญหาล่าช้า ย่อมกระทบต่อการลงทุน โดยที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ระบุจะส่งมอบพื้นที่ให้ก่อน 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะทยอยมอบให้หลังจากนี้ ซึ่งหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องใช้วุฒิภาวะ และความเป็นผู้นำ แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง โดยเฉพาะภายในการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เป็นหน่วยงานในกำกับดูแล เพื่อให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าไปตามกรอบระยะเวลา หากไม่เป็นเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ สิ่งที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม มีท่าทีแข็งกร้าว พูดในทำนองจ่อขึ้นแบล็กลิสต์ หากเอกชนไม่มาลงนามในสัญญาภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ซึ่งอาจส่งผลให้มี “บริษัท” อีกแห่งรับส้มหล่นทันที และไม่ใช่แค่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินเท่านั้น แต่ในอนาคตเมื่อ CPH ถูกแบล็กลิสต์ และกระทบต่อการประมูลงานของรัฐ ใครจะเป็นเสือนอนกิน อันนี้คงพิจารณาได้ไม่ยากจริงๆ

@ จี้แก้ครหาเอื้อกลุ่มทุน

ไม่เพียงแต่เท่านั้น หากมองถึงเรื่องความสัมพันธ์กับเอกชน สังคมก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้สำหรับข้อพิพาทระหว่างบริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม กับ ‘เซ็นทรัลวิลเลจ’ ห้างเอาท์เล็ตหรูขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ใช้งบก่อสร้างกว่า 5 พันล้านบาท รวบรวมสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกไว้ครบครัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นสวรรค์ของนักช้อปปิ้ง ที่มีกำหนดแกรนด์โอเพ่นนิ่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562 โดยหลังจากก่อสร้างกันมาเนิ่นนาน แต่อยู่ๆ ทอท. ก็มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าแจ้งความดำเนินคดีว่าห้างดังกล่าวรุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ราชพัสดุ พร้อมสั่งปิดทางเข้าออก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนอื่น จนกระทั่งศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้ฝ่าย เซ็นทรัลวิลเลจ หายใจพอได้ทั่วท้องขึ้นนอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังถูกตั้งคำถามถึงภารกิจที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้ไขข้อพิพาทเรื่องทางด่วน ที่ทั้งคณะกรรมการเจรจาแก้ไขข้อพิพาท กมธ.ของสภาผู้แทนฯ ล้วนเห็นตรงกันให้ขยายสัมปทานทางด่วน เพื่อไม่ต้องเสียค่าโง่ แต่เมื่อเรื่องมาถึงกระทรวงคมนาคม ต้องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี…กลับถูกดึงเรื่องไว้อย่างไม่มีเหตุผล! เล่นเอาผู้สันทันกรณีเกาหัวแกรกๆ ว่า..ทำไมเรื่องที่เจรจาได้ ช่วยให้รัฐไม่ต้องเสียค่าโง่แก่เอกชน ถึงไม่รีบดำเนินการ ? แนวทางแปลกๆ อีกเรื่อง เช่น กรณีโฮปเวลล์ ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องชดใช้ค่าเสียหายกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กรณีถูกบอกเลิกสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม วงเงิน 11,888.75 ล้านบาท แต่ทางบิ๊กคมนาคมก็ตั้งท่าต่อสู้คดีให้สับสนซับซ้อนขึ้นไปอีก ทั้งหมดจึงกลายเป็นคำถามถึงรัฐบาลว่า หากตั้งหน่วยงานและผู้มารับผิดชอบขึ้นมาทำงานเพื่อหวังแก้ปัญหาให้ลุล่วง แต่สุดท้ายกลับสร้างปัญหาขึ้นเองเช่นนี้มีประโยชน์จริงๆ ใช่หรือไม่ !??

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน