พช. รวมพลังสภาสตรีฯ จับมือเจ้าเมืองมหาสารคาม รณรงค์สวมใส่ผ้าไทย

พช. / เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่โรงแรมวสุ จ.มหาสารคาม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงขับเคลื่อนรณรงค์การใส่ผ้าไทย กับนายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นางวริฐา จันทรา ประธานชมรมแม่บ้านจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัท ประชารัฐ จำกัด องค์กรสตรี โดยทุกฝ่ายจะมุ่งมั่นขับเคลื่อนให้พี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดมหาสารคาม หันมาใส่ผ้าไทย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับสภาสตรีขับเคลื่อนโครงการ อนุรักษ์ สืบสาน ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน ทั้งนี้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระพันปีหลวง ที่ทรงมีพระปรีชาชาญ พระวิริยะ พระอุตสาหะ ในการรื้อฟื้นผ้าทอไทย ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทย ให้เป็นอาชีพเสริมจากการทำไร่ทำนาในอดีต จนถึงปัจจุบัน ทำให้ผ้าไทยได้รับความนิยมนำมาสวมใส่ ทั้งจากคนไทยและคนต่างชาติ ผ้าทอไทยเป็นภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีความสวยงาม มีความโดดเด่นของแต่ละกลุ่ม ทำให้การทอผ้ากลายเป็นอาชีพหลักของกลุ่มสตรีในหลายๆ จังหวัด

ทั้งนี้สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ยังได้พระราชทานพระราชดำรัสในงานวันสตรีไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ว่าพระองค์จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปีหลวง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อปวงชนชาวไทย กรมการพัฒนาชุมชนจึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวมหาสารคาม ร่วมกันสืบสาน รักษา ภูมิปัญญาด้านผ้าไทย ด้วยการสวมใส่ผ้าไทยทุกวัน อันจะช่วยทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน สร้างความเข้มแข็งแก่ครอบครัวและชุมชน

ดร.วันดี กล่าวว่า สมเด็จพระพันปีหลวง ได้พระราชทานให้ทุกวันที่ 1 สิงหาคม เป็นวันสตรีไทย และบังได้พระราชทานดอกกล้วยไม้แคทรียา ควันสิริกิติ์ เป็นดอกไม้ประจำสตรีไทย นอกจากนี้ยังได้พระราชทานหน้าที่ของสตรีไทย 4 ประการคือ 1.เป็นแม่บ้านที่ดี 2.เป็นแม่ที่ดีของลูก 3.รักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมไทย 4.พัฒนาปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ ดังนั้นสภาสตรีฯจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาและจับมือกับกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยทั่วประเทศและทั่วโลก หันมาร่วมด้วยช่วยกันใส่ผ้าไทยทุกวัน หากว่าคนไทย 35 ล้านคนร่วมใจกันใส่ผ้าไทย เพียงซื้อผ้าเพิ่มคนละ 10 เมตรละ300 บาท จะเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนกว่า 1 แสนล้านบาท

นายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่ทำการเกษตรและประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร นอกจากนี้ยังสามารถปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สามารถที่จะพัฒนายกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมการผลิตเส้นไหมได้ในอนาคต นอกจากนี้มหาสารคามยังมีการทอผ้าไหม ผ้าฝ้ายมาเป็นเวลาช้านานมีภูมิปัญญาของท้องถิ่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง จังหวัดมหาสารคามมีความพร้อมที่จะพัฒนาจังหวดีให้เป็นศูนย์กลางแห่งการผลิตไหมดิบในอนาคตอันใกล้นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน