พล.อ.ประวิตร ถก‘กมช.’นัดแรก เลือกผู้ทรงคุณวุฒิ หนุนรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

พล.อ.ประวิตร / วันที่ 13 ม.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (เดิม) ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ กมช. ในครั้งนี้ด้วย

ตามมติครม. เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2562 ได้อนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมช. จำนวน 7 คน ดังนี้ 1.นายปริญญา หอมเอนก ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2.พล.ท.มโน นุชเกษม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3.พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ด้านวิศวกรรมศาสตร์ 4.นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ด้านกฎหมาย 5.นายวิเชฐ ตันติวนิชด้านการเงิน 6.นายบดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ ด้านสาธารณสุข และ 7.รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินงานตามรูปแบบคณะกรรมการ กมช. ขับเคลื่อนงานในการวางแผนนโยบายที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. ไซเบอร์

ที่ประชุมรับทราบภาพรวมความคืบหน้าการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานกลางของประเทศ และแผนการดำเนินงานในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง และนโยบายและแผนระดับชาติ ภายใต้พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วน ภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562

ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรายงาน น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ เปิดเผยว่า สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญวันนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาหลักเกณฑ์การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) และคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กบส.) และได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการทั้งสองคณะดังกล่าวด้วย

ที่ประชุมครั้งนี้ยังพิจารณามอบหมายให้ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ ThaiCERT ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ตาม พรบ. ไปพลางก่อน ระหว่างการจัดตั้งสำนักงานยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ ThaiCERT จะทำหน้าที่ตอบสนองและจัดการกับเหตุการณ์ โดยให้คำแนะนำและสนับสนุนในการแก้ไขภัยคุกคามไซเบอร์ให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศได้อย่างทันท่วงที

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “นัดแรกครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นกลไกหนุนให้เกิดการพัฒนาและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สร้างให้ประเทศไทยมีความพร้อม สามารถปกป้องและรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามไซเบอร์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการชุดนี้”

พล.อ.ประวิตรกล่าวย้ำว่า “การประชุมครั้งนี้เป็นการผลักดันความคืบหน้าในการขับเคลื่อนกลไกการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศใน 4 เรื่องสำคัญด้วยกัน คือ 1.การกำหนดทิศทาง นโยบายและแผนไซเบอร์ซิเคียวริตี้ระดับชาติ เพื่อให้เกิดการปกป้อง รับมือ ป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และเกิดความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน 2. การเตรียมการจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ทุกรูปแบบ 3. แนวทางในการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ 4. การดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดผลดีต่อการเตรียมการประเมินอันดับและยกระดับความพร้อมของไทยด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ในเวทีสากลต่อไป พร้อมทั้งขอให้คณะกรรมการฯ ร่วมกันกำกับติดตามและผลักดันการดำเนินงาน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยขอฝากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเลขาธิการช่วยกำกับการพัฒนาด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ของประเทศ ให้เป็นไปตามทิศทางที่คณะกรรมการชุดนี้ได้กำหนดไว้ต่อไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน