อีเอสอาร์ไอ ผนึก มศว. นำเทคโนโลยี GIS บรรจุหลักสูตร สานต่อสร้างบุคลากรไอทีป้อนตลาดแรงงานรับโลกยุคใหม่

วันที่ 20 ก.พ. น.ส.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีดีจี เปิดเผยว่า เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมต่างต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพธุรกิจให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ ส่งผลให้ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องการบุคลากรคุณภาพที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร

น.ส.ธนพร กล่าวต่อว่า โดยมีภาคธุรกิจที่น่าจับตามอง เช่น ธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ การขนส่งและโลจิติกส์ ซึ่งมีการแข่งขันทางตลาดสูงและต้องการเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการมองเห็นศักยภาพที่เป็นพื้นฐานของนักศึกษา ที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ เป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือดังกล่าว ที่บริษัทมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยี GIS ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เป็นที่ต้องการของตลาดสูง โดยจากผลสำรวจของอีไอซี เปิดเผยว่า บุคลากรไอทีที่มีทักษะเฉพาะทางเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจำนวนมากกว่า 10,000 คน ต่อปี

อีเอสอาร์ไอ ผนึก มศว. นำเทคโนโลยี GIS บรรจุหลักสูตร

อีเอสอาร์ไอ ผนึก มศว. นำเทคโนโลยี GIS บรรจุหลักสูตร

“การนำเทคโนโลยี ArcGIS โปรแกรมประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้าบรรจุในหลักสูตรภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในครั้งนี้ จะเน้นการเรียนการสอนไปที่ พื้นฐานความรู้ด้าน GIS และการพัฒนาโปรแกรมภูมิสารสนเทศบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ สร้างแอปพลิเคชันแผนที่บนสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บและแก้ไขข้อมูลแผนที่ ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อนำไปต่อยอด ประกอบการวิเคราะห์เชิงธุรกิจต่อไป” น.ส.ธนพร กล่าว

น.ส.ธนพร กล่าวอีกว่า โดยในสายงานภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอาชีพ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิเคราะห์ออกแบบระบบ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ดูแลด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และด้านคอมพิวเตอร์เซอร์เคียวริตี้ ผู้ดูแลฐานข้อมูลวิศวกรซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์ และอื่น ๆ ตลอดจนในภาพใหญ่อย่างการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ

น.ส.ธนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรดังกล่าวจะเริ่มเปิดสอนให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยเป็นการบรรยายเกี่ยวกับ GIS นับเป็น 15 คลาสเรียน ต่อเทอม โดยมีเนื้อหาการบรรยาย คือ ความรู้พื้นฐานด้าน GIS และการสร้างแอปพลิเคชันพร้อมใช้งานด้วยโปรแกรม ArcGIS Online พัฒนา Android App เบื้องต้น ด้วย Kotlin และพัฒนา Android GIS App ด้วย ArcGIS Runtime SDK และอื่น ๆ

ด้าน รศ.ดร.ปรินทร์ ชัยวิสุทธางกูร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า จากการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ทางมหาวิทยาลัย หรือนักศึกษา เริ่มตื่นตัวที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยองค์ความรู้ที่ตรงต่อความต้องการของตลาด และสิ่งที่มหาวิทยาลัยมองหา เช่น เทคโนโลยีจีไอเอส

รศ.ดร.ปรินทร์ กล่าวต่อว่า ทางมหาวิทยาลัยเองยังขาดองค์ความรู้ หรือเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจง แต่เป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้จริงในการทำงาน และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านสายงานดีเวลอปเปอร์ โปรแกรมเมอร์ เน็ตเวิร์ค ซิเคียวริตี้

“ปัจจุบันภาควิชา เปิดการสอนหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีภาคภาษาไทย มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้พร้อมด้านปัญญาและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีความเข้มแข็งทางวิชาการในศาสตร์ของวิทยาการคอมพิวเตอร์ มีสมรรถนะในการทำงานตอบสนองต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งปัจจุบันมีนิสิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 200 คน โดยในความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาคเอกชนและภาครัฐจะเข้ามาร่วมมือกันผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสู่ตลาด” รศ.ดร.ปรินทร์ กล่าว

รศ.ดร.ปรินทร์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีในแง่ของภาควิทยาการคอมพิวเตอร์จะถูกนำมาใช้เป็นอย่างมาก แต่ในภาคอื่น ๆ ยังพบปัญหาในเรื่องการเชื่อมต่อ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ มั่นใจว่าการมาของ 5G จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในด้านนี้มากขึ้น สำหรับแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรในอนาคตจะมีการปรับหลักสูตรเพื่อรองรับสหกิจศึกษาและทำความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ อย่างเช่น ESRI โดยในอนาคตจะมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนนิสิตและอาจารย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน