หลังการเปิดซองข้อเสนอทางการเงิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกผ่านพ้นไป ตอนนี้ก็มาถึงขั้นตอนของการเจรจารายละเอียดในสัญญา โดยกลุ่มบีบีเอสได้รับสิทธิ์เข้าเจรจาเป็นรายแรก เนื่องจากเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด ตลอดอายุสัญญาโครงการ 50 ปี ที่วงเงิน 3.05 แสนล้านบาท ขณะที่กลุ่มซีพีเสนออยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท และกลุ่ม Grand Consortium เสนอที่ประมาณ 1.0 แสนล้านบาท

ก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์กันว่า ข้อเสนอวงเงินสามแสนกว่าล้านบาทนั้น เป็นจำนวนเงินที่สูงและห่างจากข้อเสนอของคู่แข่งอีกสองรายอย่างมาก ใช้หลักการในการคำนวณอย่างไรจึงจะสามารถทำกำไรหรือได้ผลตอบแทนที่สูงมากขนาดนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนที่ต้องทำงานหนักมากเป็นพิเศษ ในการพิจารณาความเป็นไปได้จริงของแผนการเงินที่เอกชนเสนอมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่า อาจมีปัจจัยบางอย่างที่จะทำให้ข้อเสนอส่วนแบ่งรายได้ที่จะมอบให้แก่รัฐ 3 แสนกว่าล้านบาทนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จริง ถ้ามีการปรับเปลี่ยนหรือผ่อนปรนเงื่อนไขในสัญญาอย่างน้อย 7 ประการ ดังนี้

  1. รัฐค้ำประกันดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อแบ่งเบาภาระการจ่ายหนี้ของเอกชน
  2. ย้ายรันเวย์ เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการขยายเทอร์มินัล และเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร
  3. ปรับเงื่อนไขเกี่ยวกับการแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐ โดยคิดตามจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง หากในช่วงแรก ผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้า เอกชนสามารถจ่ายส่วนแบ่งให้แก่ภาครัฐในปีหลัง ๆ แทนการจ่ายมากในปีแรก ๆ
  4. ยกเลิกการแบ่งรายได้ของผู้เช่าช่วงสัญญาให้แก่รัฐ โดยถือว่าแบ่งรายได้จากผู้บริหารสนามบินไปให้รัฐแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน
  5. หากรัฐไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ตามข้อตกลงในสัญญา เอกชนสามารถขอเจรจาเงื่อนไขทางการเงินได้ใหม่อีกครั้งระหว่างดำเนินการ
  6. ผ่อนปรนให้ผู้บริหารสนามบินอู่ตะเภา ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ หากเกิดปัญหาในการบริหารสนามบินในอนาคต
  7. ปิดปรับปรุงสนามบินสุวรรณภูมิ และ/หรือสนามบินดอนเมือง เพื่อกระตุ้นผู้โดยสารมาใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา ในช่วงแรก 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการ

หากสามารถทำตามเงื่อนไขทั้ง 7 ข้อนี้ได้ การแบ่งรายได้ให้ภาครัฐ 3 แสนกว่าล้านบาทก็สามารถทำได้ โครงการจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน โดยจะไม่เกิดอาการล้มบนฟูก หรือเกิดเป็นค่าโง่อู่ตะเภาให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน