เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่โรงแรม อมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่าย จัดงานมอบรางวัล STOPDRINK AWARD 2017 “สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า” โดยนายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้มอบรางวัล ทั้งนี้เพื่อสร้างพลังการขับเคลื่อนและส่งเสริมพลังใจเจ้าภาพที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงและเป็นแบบอย่างให้แก่สังคมในการสร้างพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมีเจ้าภาพจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้าได้รับรางวัล 30 พื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 24 แห่ง ส่วนราชการจำนวน 3 แห่ง และพื้นที่เอกชนจำนวน 4 แห่ง และคาดว่าในปีต่อไปจะได้รับความสนใจและขยายผลลงสู่การทำงานระดับอำเภอหรือพื้นที่จัดงานสงกรานต์ที่จัดโดยเอกชนมากขึ้น

โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เป็นเวลา 10 กว่าปีที่ สสส. ร่วมกับ สคล. ภาคีเครือข่าย และเจ้าภาพจัดงานต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ร่วมกันริเริ่มการสร้างพื้นที่รูปธรรมเล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะการดื่มแล้วขับ ที่ร้อยละ 50 ของอุบัติเหตุ มีสาเหตุมาจากการดื่มแล้วไปขับ โดยเริ่มจากการผลักดันให้เป็นนโยบายของเทศบาลท้องถิ่นที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน ยกระดับการผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะของจังหวัด และเพิ่มความสำคัญกลายเป็นมติ ครม. เมื่อปี 2553 ที่นำเรื่องพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยสร้างการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคมปลอดเหล้า ส่งผลให้ปัจจุบัน มีพื้นที่เข้าร่วมมากกว่า 150 พื้นที่ เป็นถนนตระกูลข้าว 50 แห่งกับอีก 102 พื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยในถนนต่างๆ โดยเฉพาะถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น จัดกิจกรรมคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์มีผู้ร่วมงาน 135,217 คน และไม่มีคนเมา ไม่มีการทะเลาะวิวาท

“ผลการสำรวจความเห็นของประชาชน ผู้จัดงาน และผู้จำหน่ายสินค้า ในช่วงเทศกาล ปี 2560 โดย สคล. ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และ สสส. จากกลุ่มตัวอย่าง 2,069คน จากพื้นที่จัดงานสงกรานต์ 10 พื้นที่ทั่วประเทศทั้งที่จัดงานแบบปลอดเหล้าและไม่ปลอดเหล้า พบว่า ทั้งประชาชน ผู้จัดงาน และผู้ขายสินค้า มากกว่า ร้อยละ 80 เห็นด้วยกับการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้า โดยประชาชน ร้อยละ 91.1 เชื่อว่าช่วยลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ, ร้อยละ 91.2 เชื่อว่าช่วยลดการสูญเสียชีวิตลงได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องยืนยันผลและแนวโน้มของการทำงานที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน” ดร.สุปรีดา กล่าว

ด้านนายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อทดแทนธุรกิจแอลกอฮอล์ด้านประเพณีวัฒนธรรมและการส่งเสริมนโยบายสาธารณะ สคล. กล่าวว่า รางวัลSTOPDRINK AWARD 2017 แสดงให้เห็นถึงความพยายามมุ่งมั่นจัดงานที่มีความรื่นเริงสนุกสนาน ปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นพื้นที่สุขอย่างแท้จริง เพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่สังคมโดยจัดโซนนิ่งเล่นน้ำ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า” โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณา 7 ข้อ ได้แก่ 1.มีกระบวนการนโยบายสาธารณะ หรือสร้างข้อตกลงร่วม(MOU) ในระดับต่างๆ 2.มีใจและเอาใจใส่ในการทำงาน ออกจดหมายเวียนขอความร่วมมือหน่วยงาน ชุมชน ร้านค้า ว่าเป็นการจัดงานปลอดเหล้า แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน 3.มีการเฝ้าระวัง/สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 3 ปี มีการกำหนดพื้นที่โซนนิ่ง และมีมาตรการเฝ้าระวังที่ชัดเจน 4.มีแนวโน้มนำไปสู่ความยั่งยืน เป็นตัวอย่างในระดับจังหวัด หรือใช้ขยายผลต่อเชิงนโยบายได้ 5.มีกระบวนการสื่อสารและสร้างการเรียนรู้ต่อสาธารณะ 6.มีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ร่วมสร้างกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ และ 7.มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถยืนยันผลการทำงาน

นายสุรพล เทียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวว่า “ข้อมูลจาก รพ.น่านพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต ได้รับอุบัติเหตุ มาจากอุบัติเหตุทางท้องถนน และอุบัติเหตุจากเทศกาลด้วยมีการดื่มสุรา และเกิดการทะเลาะวิวาท ศูนย์เสียชีวิต ส่วนใหญจะเกิดขึ้นในช่วงการจัดงานประเพณี อาทิ สงกรานต์ แข่งเรือ ลอยกระทง โดยจะเกิดเหตุการณ์มากกว่าในวันธรรมดาปกติ และมีมากขึ้นในทุกปี การจัดงานถนนข้าวแต๋น จังหวัดน่าน เราจึงตัดสินใจว่าควรจัดงานให้เป็นพื้นที่ปลอดเหล้า ปลอดภัย พร้อมด้วยการสร้างคุณค่าให้กับการจัดงานงานประเพณีต่างๆ ซึ่งทำได้ไม่ยาก เมื่อเราจัดงานไม่มีเหล้า เราก็ต้องสร้างกิจกรรมดีดีมีสีสัน เติมความสุขสนุกสนาน มีดนตรี สำหรับวัยรุ่น เพื่อให้พื้นที่เล่นน้ำเป็นพื้นที่สนุกสนานและที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงลงได้เมื่อมีควบคุมไม่ให้มีการขายเหล้า ไม่ให้นำเข้ามาดื่ม และไม่ให้มีการตีกัน เทศบาลเมืองน่านทำมาแล้ว 3 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการตอบรับดี และพื้นที่มีการควบคุมได้ ต่อมาต้องสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนที่มาเล่นน้ำว่ามาเล่นน้ำในพื้นที่นี้ต้องปลอดเหล้า เมื่อเราทำสำเร็จนักท่องเที่ยวก็จะรับรู้และติดใจพวกเขาจะรอคอยการจัดงานแบบสนุกและปลอดภัยในปีต่อไปอีกด้วย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน