พช.รณรงค์ปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงด้านอาหาร

พช. / เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยเชื่อมั่นในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยในระดับครัวเรือนรณรงค์ส่งเสริมให้ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ พร้อมดอกไม้สวยงามเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับทุกครัวเรือน ทำให้พอมี พอกิน พอใช้ มีความสุขพึ่งตนเองได้ โดยจะดำเนินการทุกหมู่บ้านตั้งแต่บัดนี้ให้แล้วเสร็จทุกครัวเรือนภายในวันที่ 30 มิ.ย.

อธิบดีพช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ยิ่งขณะนี้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนขาดรายได้ไม่สามารถออกไปทำงานหรือหาซื้ออาหารได้สะดวกยิ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ มีความสำคัญเร่งด่วน

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมาย กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้ซักซ้อมเน้นย้ำหลักการสำคัญ 5 ประการ ให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้านนำไปปฏิบัติ ได้แก่ 1. จะพัฒนาใครเขา ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน โดยให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับชั้น เป็นตัวอย่างในการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้อย่างน้อย 5 ชนิด และไม้ดอกไม้ประดับอื่นๆ ที่ผู้คนผ่านไปมาเห็นแล้วสบายตา สบายใจ และใช้ในการประกอบกิจกรรมทางศาสนาได้ด้วย เช่น ดอกบัว ดอกเข็ม และดอกเฟื่องฟ้า เป็นต้น ในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของตนเอง เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ประชาชน

2.ผู้นำต้องทำก่อน โดยกรมฯ ได้ขอความร่วมท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้เป็นแบบอย่าง เช่น ปลูกพืชผักสวนครัวภายรั้วกินได้ในจวนผู้ว่าราชการจังหวัด บ้านพักนายอำเภอ บ้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านผู้บริหารองค์กรปกครองถิ่น ทุกคน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีต่อคนในสังคม

3.ต้องผนึกกำลัง ตั้งระบบ ทำให้ครบวงจร โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนวางแผนการขับเคลื่อนร่วมกัน ตั้งชุดปฏิบัติการหมู่บ้าน แบ่งหน้าที่ติดตาม

4.การส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบเข้าถึงทุกครัวเรือน ทีมปฏิบัติการหมู่บ้านต้องลงไปแนะนำและกระตุ้นปฏิบัติการ โดยทำงานแบบคนจน เน้นการพึ่งตนเอง และทีมปฏิบัติการต้องหมั่นเยี่ยมเยียนเป็นประจำ แบบเดินเคาะประตูบ้าน

5.การสร้างเครือข่ายขยายผล โดยการเชื่อมโยงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เมล็ดพันธุ์/ต้นกล้า ในชุมชน มีการเอามื้อสามัคคีลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของไทย การรวมกลุ่มนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคไปทำบุญ ทำทาน แบ่งปัน ไปแปรรูป และจำหน่าย ซึ่งเมื่อเกิดผลดีเช่นนี้ก็จะส่งผลให้เกิดความยั่งยืน และนำไปปฏิบัติเป็นวิถีชีวิต กำหนดการ 90 วัน ที่ให้ทุกจังหวัดทุกอำเภอทุกตำบล หมู่บ้าน และทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ช่วยกันรณรงค์ให้ครบทุกหลังคาเรือนทั้ง 76 จังหวัด (ไม่รวม กทม.) เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้จัดประกวดเพื่อปลุกเร้าให้ทุกฝ่ายทำงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานในการขับเคลื่อน และสร้างต้นแบบในการทำงานปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้

กรมฯ จะมอบรางวัลให้บุคคลต้นแบบและเชิดชูเกียรติให้ผู้ขับเคลื่อนทุกระดับตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ระดับผู้ปฏิบัติการ และระดับชุมชน หรือท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “ หน้าบ้าน น่ามอง หลังบ้านสนองประโยชน์ ทุกพื้นที่มีพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ แปลงดอกไม้ไหว้พระและพืชพันธุ์ ประกอบอาหาร”

อย่างไรก็ดีการดำเนินงานดังกล่าว เราไม่ได้เน้นทำในสังคมหมู่บ้านชนบทเท่านั้น คนที่อยู่ในสังคมเมืองที่อาศัยอยู่ตามคอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร ก็สามารทำได้ เช่น การปลูกในกระถาง ยางรถยนต์ เพื่อบริโภคในครัวเรือนของตนเอง ในยามที่มีการกักตัว หรือไม่สามารถออกไปซื้อหานอกบ้านได้

กรมการพัฒนาชุมชน จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกคนมาร่วมกันปลูกผักสวนครัว ไว้บริโภคในครัวเรือน ส่วนเมล็ดพันธุ์ หรือกล้าพันธุ์ให้ใช้วิธีการแบ่งปันจากเพื่อนบ้านในจังหวัดเดียวกัน เช่น หน่อกล้วย ต้นกะเพรา ตะไคร้ หัวข่า มะกรูด มะนาว เป็นต้นผมเชื่อมั่นว่าถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จะรุนแรงขนาดไหน ระบบเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักงัน การท่องเที่ยวที่เป็นเส้นเลือดสำคัญถูกกระทบ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคกระทบหนัก ประกอบกับความตื่นตระหนกของผู้คนที่เกรงว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจะขาดแคลน ดังปรากฏการณ์ประชาชนแย่งกันซื้อของ ในห้างสรรพสินค้าเพื่อไปกักตุน ถ้าทุกครัวเรือนทำได้ เราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน