กสศ. ห่วง โควิด ระลอกใหม่ ก่อปรากฏการณ์ ‘Covid Slide’ เหตุปิดเรียนกระทบความต่อเนื่องด้านพัฒนาการเรียนรู้ ส่งผลเหลื่อมล้ำการเรียนรู้เด็กในเมือง-ชนบท

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากฐานข้อมูล ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (isee) พบว่า ขณะนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของ โควิด ในพื้นที่ 28 จังหวัด จำนวน 143,507 ล้านคน สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้ติดตามศึกษาปรากฏการณ์ Covid-slide อย่างใกล้ชิด

พบว่าการระบาดระลอกใหม่จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 2 ประเด็น คือ 1.ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา และ 2.ภาวะถดถอยด้านการเรียนรู้ โดยจะยิ่งขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเมืองและชนบทอีกมากกว่า 2 ปีการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนซึ่งอยู่ในพื้นที่ 28 จังหวัดที่มีการระบาดสูงสุด

กสศ. ห่วง โควิด ระลอกใหม่ ก่อปรากฏการณ์ 'Covid Slide' เหตุปิดเรียนกระทบความต่อเนื่องด้านพัฒนาการเรียนรู้

กสศ. ห่วง โควิด ระลอกใหม่ ก่อปรากฏการณ์ ‘Covid Slide’ เหตุปิดเรียนกระทบความต่อเนื่องด้านพัฒนาการเรียนรู้

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวต่อว่า กสศ.จึงได้จัดให้มีมาตราการเชิงรุกเพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชนกลุ่มยากจนด้อยโอกาสในพื้นที่สีแดงและสีแดงเข้ม 28 จังหวัด โดยจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข รายละ 1,000 บาท จำนวน 143,507 คน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเด็กเยาวชนพื้นที่สีแดงเป็นการพิเศษ ซึ่งจากการสำรวจความต้องการของเด็กเยาวชนในพื้นที่พบปัญหาเร่งด่วน 3 เรื่องสำคัญคือ

1.กลุ่มเด็กเยาวชนยากจนในเขตเมืองที่ผู้ปกครองขาดรายได้ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องออกไปหางาน เช่น เก็บขยะขาย สิ่งจำเป็นในขณะนี้คือปัญหาปากท้อง ความอยู่รอด และยังขาดอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเอง 2.เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง พบว่ายังขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต และอุปกรณ์การเรียนรู้ที่จำเป็น เนื่องจากหลายพื้นที่กลายเป็นพื้นที่ปิด ทำให้ครูไม่สามารถเข้าถึงเด็กได้ จึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ 3.กลุ่มลูกแรงงานต่างด้าวในพื้นที่สีแดง จากการสำรวจพบว่า กลุ่มเด็กปฐมวัยขาดสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อุปกรณ์การป้องกันโควิด-19 และในกลุ่มวัยเรียนประถมปลายขาดสื่อการเรียนรู้

“มาตรการช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาสในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด กสศ.ได้ระดมความร่วมมือโดยทำงานร่วมกับเครือข่ายครูทั้งในระบบและนอกระบบ เครือข่ายท้องถิ่นจังหวัดเพื่อจัดแพ็คเกจความช่วยเหลือเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.สนับสนุนกลไกอสม.การศึกษา ซึ่งเป็นอาสาสมัครการเรียนรู้ในชุมชน ตัวช่วยการทำงานของครูพร้อมกับบริหารจัดการอุปกรณ์ สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชน รวมถึงเฝ้าระวังความเสี่ยงในการหลุดออกนอกระบบการศึกษา 2.จัดแพ็คเกจการเรียนรู้เนื่องจากโรงเรียนปิดแต่ไม่ปิดกั้น ทั้งในรูปแบบถุงยังชีพเพื่อการเรียนรู้ และกล่องดำทักษะในศตวรรษที่ 21 และ 3.ถุงยังชีพและอุปกรณ์จำเป็นในการป้องกันการระบาด เบื้องต้นจะเน้นเด็กและเยาวชนในพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และพื้นที่เสี่ยง อย่าง กทม. โดยจะมีการส่งมอบให้ถึงกลุ่มเป้าหมายในวันที่ 18 ม.ค.นี้” ผู้จัดการกสศ. กล่าว

นพ.สุภกร กล่าวด้วยว่า ส่วนกลุ่มแรงงานด้อยโอกาส แรงงานนอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาหลังภาคบังคับ ซึ่งมีจำนวนรวมเกือบ 1 ล้านคน กสศ.มีมาตราการลดผลกระทบผ่านโครงการพัฒนาทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยทำงานร่วมกับฐานชุมชนและจังหวัด รวม 194 หน่วยพัฒนาอาชีพ เพื่อใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

นพ.สุภกร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กเยาวชนด้านการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19 กสศ.ได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้านการศึกษาในภาวะวิกฤติ เพื่อให้จัดการดูแลช่วยเหลือเด็กนอกระบบและเด็กที่มีแนวโน้มหลุดออกนอกระบบการศึกษาได้อย่างทันท่วงที โดยสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 02 0795475 กด 8 ทั้งนี้คาดว่าในปี 2564 สถานการณ์เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะรุนแรงขึ้น โดยกสศ.จะเฝ้าระวังสถานการณ์และร่วมสนับสนุนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน