ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ดำเนินการเข้ารับการประเมิน เพื่อขอเลื่อนสถานะจาก B เป็น A นั้น ผลปรากฏว่า คณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance for National Human Rights Institutions: GANHRI) ได้มีมติให้เลื่อนการพิจารณาการประเมินสถานะของ กสม. ไทยออกไปเป็นเวลา 18 เดือน

ทั้งนี้ จากการหารือกับนาย Phillip Wardle ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของเครือข่ายความร่วมมือสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions: APF) ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ยืนยันว่า การเลื่อนการพิจารณานั้นถือเป็นท่าทีที่เป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่เคยมีมาของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลกที่ขอเข้าประเมินเลื่อนสถานะจาก B เป็น A ในสถานการณ์เช่น กสม. โดยนาย Wardle แจ้งว่า การเลื่อนการพิจารณาออกไปก็เพื่อให้ กสม. ได้มีโอกาสดำเนินการแก้ไขข้อห่วงกังวลบางประเด็นของ SCA เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบันและประสิทธิผลตามหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือหลักการปารีส (Paris Principles) มากยิ่งขึ้น

#หนุนแก้ไขบทบัญญัติกฎหมาย

นาย Wardle ยังชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปนั้น คือ หน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (4) ที่กำหนดให้ กสม. ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใดที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว โดย SCA มีความกังวลว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะลดทอนความเป็นอิสระที่แท้จริงหรือที่สาธารณะรับรู้ (actual or perceived independence) ดังนั้น ในระยะเวลา 18 เดือน SCA หวังว่า กสม. จะได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังที่จะให้มีการยกเลิกบทบัญญัติข้อดังกล่าว

นางประกายรัตน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสม. ก็ได้เคยแสดงความห่วงกังวลและมีหนังสือไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า บทบัญญัติตามมาตรา 247 (4) อาจไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส แต่ไม่ประสบผล อย่างไรก็ดี ทั้งก่อนการให้สัมภาษณ์กับ SCA และหลังจากทราบความเห็นของ SCA
ก็ได้มีการติดต่อประสานงานไปยังฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับทราบร่วมกันถึงข้อห่วงกังวลของสากล เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้ กสม. อันถือเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถคืนกลับสู่สถานะ A โดยการยกเลิกมาตรา 247 (4) อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในประเทศและสังคมโลกในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.

“กสม. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 3) เป็นชุดรักษาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 และตนในฐานะผู้ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดที่จะให้ กสม. กลับคืนสู่สถานะ A และหลังจากที่ กสม. ชุดรักษาการพ้นหน้าที่ไปแล้ว ตนขอฝากไปยังฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ตลอดจนผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ให้ช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่ทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนในความเป็นอิสระขององค์กรโดยเร็ว เพราะแม้ SCA จะเลื่อนการพิจารณาออกไปอีก 18 เดือน แต่องค์กรจะต้องนำส่งเอกสารสำหรับการพิจารณาให้กับ SCA ใหม่ ภายในเดือนตุลาคมปีนี้ กสม. ชุดนี้จึงขอฝากภารกิจสำคัญนี้ไว้ด้วย” นางประกายรัตน์กล่าว

#มุ่งหน้าส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค

นอกจากประเด็นการแก้ไขบทบัญญัติกฎหมายแล้ว กสม. ยังได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆจัดตั้ง ‘ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค’ (Regional Center for Human Rights Study and Coordination) จำนวน 12 แห่ง ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อช่วยในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น การรับส่งเรื่องร้องเรียนให้สำนักงาน กสม. รวมถึงการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างใกล้ชิด

นอกจากนั้น กสม. ยังมีมติให้จัดตั้ง ‘สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้’ (NHRCT Regional Office for the Southern Area) ณ จังหวัดสงขลา เป็นส่วนราชการในภูมิภาคแห่งแรก เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น

สำหรับ ‘ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค’ จำนวน 12 แห่ง ประกอบด้วย

ภาคเหนือ
– คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
– มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
– คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

ภาคตะวันออก
– คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี
– มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี

ภาคตะวันตก
– คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
– มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

ภาคใต้
– คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
– มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
– มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี
– มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา

สำหรับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ฝั่งทิศใต้ ชั้น 6-7 เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0-2141-3800, 0-2141-3900 สายด่วนร้องเรียน 1377 (ในเวลาราชการ)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน