สืบเนื่องจากกรณีภาพป้ายผ้า “ไทยแลนด์แดนกะลา” ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน และถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสมของการใช้ป้ายผ้าดังกล่าวในการเดินขบวน

วันที่ 13 พ.ย. ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง “นิว” นักเรียนสายศิลป์-คำนวณ ชั้น ม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หนึ่งในทีมงานที่จัดทำขบวนป้ายผ้าดังกล่าว เพื่อสอบถามเกี่ยวกับเบื้องหลังความหมายป้ายที่กำลังเป็นข่าว และกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียขณะนี้

นิว วัย 16 ปี อธิบายว่า จริงๆแล้วตนตั้งใจให้คำว่า แดนกะลา สื่อถึงระบบการศึกษา หมายความว่า ระบบการศึกษาไทย อยู่ในกะลา ไม่ยอมออกรับสิ่งใหม่เข้ามา โดยตนกับเพื่อนๆ ในทีมเป็นคนช่วยกันคิดป้ายผ้าขึ้นมา

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลหลังภาพป้ายผ้า “แดนกะลา” นิวกล่าวว่า เสียใจนิดหน่อย เพราะหลายคนวิจารณ์โดยไม่เข้าใจประเด็นภาพรวม

“บอกไม่ถูกเหมือนกัน เสียใจนิดหน่อย สื่อเค้าถ่ายแค่ภาพเดียว ถ้าดูทั้งขบวนจะทราบว่า หมายถึงอะไร” นิวอธิบาย “คือผมว่า เราเป็นคนทำ เราจะรู้ดีที่สุด คนที่มาด่าเรา เค้าก็อาจจะไม่รู้เท่าเรา”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การศึกษาไทยต้องปรับปรุงเรื่องใดบ้างเพื่อยกคุณภาพและออกจากกะลา นิว ตอบว่า อยากให้เปลี่ยนการสอนการปลูกฝังนักเรียนมาเป็นวิธีที่ดีขึ้น และอยากให้เน้นเรื่องจรรยาบรรณการสอนของครู

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน