กสศ. ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมสมองรับ เปิดเทอมใหม่ แนะลดความเสี่ยงเร่งฉีดวัคซีนครู ใช้ฐานข้อมูลออกแบบมาตรการลดความเหลื่อมล้ำตรงจุด

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือภาคีพันธมิตร วุฒิสภา TDRI The Reporters และ The Active Thai PBS จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “เปิดเทอมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม: สอนอย่างไร เรียนแค่ไหน เมื่อออนไลน์ไปไม่ถึง” ในวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในแวดวงการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมพูดคุยกันถึงประเด็นการศึกษาแบบ New Normal ในภาวะวิกฤตโควิด-19

เพื่อร่วมกันแบ่งปันการทำงานในการศึกษาปัญหาและหาทางออกให้กับเด็กยากจน เด็กยากจนพิเศษ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่สามารถเข้าถึงสัญญานอินเตอร์เน็ตได้ พร้อมตัวแทนคุณครูและผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งได้มาร่วมแบ่งปันนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนในยุคโควิด ที่ใช้ได้ผลสำเร็จจากประสบการณ์จริง

นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา กล่าวว่า กมธ.ได้ลงไปทำวิจัยผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการศึกษา พบว่าในรอบที่ 3 สาหัสมาก หนึ่งในข้อเสนอคือควรให้เกิดการจัดการศึกษาได้ตามสภาพจริง บางพื้นที่วิกฤต แต่บางพื้นที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ จึงควรให้พื้นที่ที่ไม่มีโควิด-19 ระบาด จัดการเรียนได้เต็มหลักสูตรเต็มเวลา โดยยึดหลักควบคุมโรคระบาด ตามมาตรการวัดไข้ รักษาระยะห่าง ใช้เจลล้างมือ

นายตวง กล่าวต่อว่า และต้องทำงานร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่ายคือ 1.กระทรวงมหาดไทย 2.กระทรวงสาธารณสุข และ 3.กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ การจัดการศึกษาในพื้นที่บนเขา เกาะ ชนบท มีเทคนิคจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน ควรนำวิธีเหล่านั้นมาถอดบทเรียนเพื่อจัดการเรียนการสอน อีกทั้งที่ผ่านมาพบว่าการบริหารจัดการการศึกษาที่สั่งการจากฝั่งกระทรวงศึกษาธิการไม่ประสบความสำเร็จ วันนี้สถานศึกษาควรจะเป็นคนกำหนดรูปแบบการเรียนการสอนและส่งขึ้นมาให้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจะได้เห็นความแตกต่างหลากหลายไม่ต้องเหมือนกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะมีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณและมาตรการช่วยเหลือ

“ที่สำคัญคือบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการต้องปรับใหม่ ต้องไม่ใช้การสั่งการแต่ใช้การสร้างแรงจูงใจบุคลากรทางการศึกษา และอำนวยความสะดวกทั้งเรื่องหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ที่มีข้อเสนอไปถึงรัฐบาลว่าควรมีการจัดสรรงบพิเศษ ไม่ใช่ให้โรงเรียนไปหักจากงบเดิมที่ใช้ไม่พออยู่แล้ว อีกทั้งควรมีกระบวนการให้โรงเรียนที่พร้อมเปิดเรียนได้ โดยมีความเป็นเอกภาพทางนโยบายแต่ หลากหลายทางปฏิบัติโรงเรียนไหนพร้อมก็เปิดก่อนได้เลยไม่ต้องรอพื้นที่อื่น และควรจะได้นำแนวคิดที่ผ่านมาไปต่อยอดนวัตกรรมจัดการศึกษาต่อไป” นายตวง กล่าว

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ในช่วงที่กำลังจะเปิดเทอมในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การทำงานบนฐานข้อมูลรายบุคคล รายโรงเรียน และรายพื้นที่ ด้วยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยให้มองเห็นสถานการณ์หน้างานจริง สามารถออกแบบมาตราการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ตรงจุด สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

 

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ กสศ. พบประชากรผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีบริบทความยากลำบากที่หลากหลาย ซึ่งจำเป็นที่รัฐต้องมีมาตรการที่หลากหลายและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในภาวะวิกฤตโควิท-19 ในช่วงเปิดเทอมนี้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงได้อย่างแท้จริง

ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า เช่น ปัจจุบันมีสถานศึกษามากถึง 510 แห่งที่มีนักเรียนยากจนพิเศษ 100% ทั้งโรงเรียน โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ตาก นอกจากนี้ ข้อมูลระบบ iSEE ยังชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันยังมีสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (Stand Alone) มากกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ ที่ยังต้องการการพัฒนาและการลงทุนในโครงสร้างพื้นที่หลายด้านเพื่อให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2564 นี้

 

“บทเรียนจากการทำงานของ กสศ. ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ข้อมูลถือเป็นเครื่องมือในการทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีศักยภาพสูง การมีข้อมูล ช่วยให้เรามองเห็น สถานการณ์จริงพื้นที่ ได้ยินเสียงจากในพื้นที่ และทำให้ช่วยเหลือตรงจุด อีกทั้งการมีข้อมูลยังสามารถแชร์ ข้อมูลเหล่านี้ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียนและสุดท้ายการมีข้อมูลจะเชื่อมโยงไปสู่นโยบายที่มาจากปัญหาหน้างานจริง จากคนทำงานจริง ซึ่งไม่ใช่แค่การทำงานในวันที่ 1 มิ.ย.ปีนี้เท่านั้นแต่ยังรวมถึงปีต่อๆ ไป การทำงานบนฐานข้อมูลที่มีคุณภาพสูง จากหน้างานจริงจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เรามีการศึกษาที่เสมอภาคได้ในอนาคต” ดร.ไกรยส กล่าว

ขณะที่ นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยด้านการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้การจัดการศึกษามีความเหลื่อมล้ำเข้าไม่ถึงเด็กบางกลุ่ม ในช่วงการระบาดของโควิด ส่วนหนึ่งคือ ‘เวลา’ เนื่องจากโรงเรียนเปิดเรียนไม่ได้ตามกำหนด การจัดการเรียนการสอนทำตามปกติไม่ได้ ยิ่งตอกย้ำให้บางโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาต้องลดเวลาเรียนลง เด็กจึงเข้าถึงหลักสูตรได้ไม่ครบถ้วน

นายพงศ์ทัศ กล่าวต่อว่า ค่าเฉลี่ยของปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่ต้องลดเวลาเรียนจาก 200 วันเหลือราว 180 วัน หายไปประมาณ 10% และจากบทเรียนในการจัดการศึกษาแบบ 4 อ. คือ ออนไลน์ ออนแอร์ สอนผ่าน DLTV ออนแฮนด์ ให้ครูเดินทางไปแจกใบงานในพื้นที่ และออนไซต์ คือให้เด็กสลับวันเข้ามาเรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ พบว่ายังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีความพร้อมจะรับผลกระทบมากที่สุด

“ดังนั้นการจัดการศึกษา นอกจากแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามสถานการณ์แล้ว ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ เพื่อผลการศึกษาในระยะยาว หมายถึงการเรียนในภาวะวิกฤตที่เด็กจะยังได้ทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นรอบด้าน คือต้องมีการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่ใช้เวลาเรียนน้อยลง และสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่อยู่นอกโรงเรียนได้เต็มที่” นางพงศ์ทัศ กล่าว

นายพงศ์ทัศ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังจะเปิดเทอมใหม่ มาตรการระยะสั้นคือต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เร็วที่สุด ก่อนเปิดเรียนในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ เริ่มในพื้นที่สีแดงเข้มก่อน ทั้งนี้ประเด็นหนึ่งคือต้องสร้างความมั่นใจในเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน เช่นคำแนะนำทางการแพทย์ในการประเมินความเสี่ยงของแต่ละคนก่อนการรับวัคซีน และต้องมีมาตรการชดเชยกรณีที่เกิดการแพ้วัคซีนร่วมด้วย เชื่อว่าถ้ามาตรการเหล่านี้สื่อสารไปถึงทุกโรงเรียนได้ชัดเจน ก็จะทำให้ครูมีคความมั่นใจเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในการเสวนาออนไลน์ยังได้ถอดบทเรียนการบริหารจัดการการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่พิเศษ ที่ประสบความสำเร็จจากการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยก้าวข้ามข้อจำกัดของพื้นที่ มีการผสมผสานการสอนทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ บางพื้นที่มีอาสาสมัครการศึกษา ที่อยู่ในชุมชนเข้าไปช่วยเสริมการเรียนการสอน

เช่น ศิษย์เก่า รุ่นพี่ และ ปราชญ์ รวมถึงการระดมความร่วมมือจากผู้ปกครองและชุมชน ได้แก่ โรงเรียนบ้านห้วยนกกก ตั้งอยู่ในเขตชายแดนจังหวัดตาก มีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูง มีหมู่บ้านกระจายเป็นหย่อม ที่ผ่านมาในสถานการณ์โควิด-19 แต่ละระลอก ได้ลองจัดการศึกษาตามนโยบายแต่ไม่ได้ผลดีนัก จึงคิดค้นวิธีแก้ปัญหาหลายรูปแบบ ทั้งให้เด็กพื้นที่ห่างไกลมาพักนอนและเรียนที่โรงเรียน จัดครูเคลื่อนที่เข้าไปสอนตามหมู่บ้าน รวมถึงคัดเลือกและมอบหมายให้ ‘พี่ครู’ ทำหน้าที่สอนน้อง ๆ ในหมู่บ้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน