“วราวุธ” ย้ำในเวทีสุดยอดผู้นำความยั่งยืนปี 64 พร้อมผลักดันภาคเอกชน สู้วิกฤตโลกร้อน ยกระดับการพัฒนาธุรกิจแบบปล่อยคาร์บอนต่ำตลอดห่วงโซ่อุปทาน

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกล่าวถ้อยแถลง หัวข้อ “บทบาทของภาคเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในงานประชุมสุดยอดผู้นำความยั่งยืนประจำปี 2564 GCNT Forum: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021 ภายใต้แนวคิด A New Era of Accelerated Actions

จัดโดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศ (GCNT : Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย ในรูปแบบการประชุมสัมมนาออนไลน์ เพื่อระดมพลังสมาชิก ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสหประชาชาติ ยกระดับความมุ่งมั่น กำหนดทางออก และค้นหาโอกาสในการรับมือกับวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์

นายวราวุธ ได้ฝากให้ภาคเอกชนไทย พัฒนาไปสู่องค์กรที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้รวดเร็วตามกระแสโลก อีกทั้งขอให้ภาคเอกชนขนาดใหญ่ ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของท่าน ให้เดินไปสู่การพัฒนาธุรกิจแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วย เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการพัฒนา ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leaving no one behind)

“โดยในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะประสานงานของทุกฝ่ายและผลักดันให้ประเทศไทยสามารถส่งต่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้คนรุ่นต่อไปในอนาคต อีกทั้งพร้อมจะผลักดันประเทศไทยไปสู่การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย”

นายวราวุธ ได้กล่าวถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนและระบบนิเวศ โดยประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ที่ร้อยละ 20 – 25 จากกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเน้นการดำเนินการใน 3 สาขา ได้แก่ พลังงานและขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสียชุมชน ทั้งยังอยู่ระหว่างการจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission development Strategy: LTS)

ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา และจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ก่อนที่จะจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ดังกล่าวไปยัง UNFCCC ในช่วงการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ รวมถึงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยภาคพลังงานและขนส่งยังคงเป็นภาคส่วนหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านมาตรการสำคัญต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับกรอบแผนพลังงานชาติ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้นายวราวุธ กล่าวถึงบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า สามารถมีส่วนร่วมได้โดย 1.ยกระดับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจให้มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของประเทศ 2.เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือและเครื่องจักรในกระบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3.พัฒนาและลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน รวมถึงเทคโนโลยีการเตือนภัยพิบัติ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน