ไทย-เยอรมัน หารือทวิภาคีร่วมปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล พร้อมหารือให้เยอรมันช่วยพัฒนายานยนต์สะอาดในไทย นำร่องพื้นที่กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. เน้นย้ำให้สำนักงานนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เร่งรัดหารือความร่วมมือกับสาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) -ของประเทศไทย ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมย์ในการประชุม COP26

ในการนี้ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. และ ดร.ณัฏฐนิช อัศวภูษิตกุล ผอ.กปอ. พร้อมเจ้าหน้าที่ สผ. ได้หารือทวิภาคีร่วมกับกับ Dr. Philipp Behrens ผู้อำนวยการแผนงานการปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (International Climate Initiative: IKI) ผู้แทนกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ในระหว่างการประชุม COP26 ซึ่งผู้แทนทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความชื่นชมต่อการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 ขณะที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2045

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ใช้โอกาสนี้หารือความก้าวหน้าและเร่งรัดการดำเนินความร่วมมือในปัจจุบัน อาทิ กรอบความร่วมมือทวิภาคีภายใต้แผนงานการปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล ระหว่างปี ค.ศ.2022 – 2026 ที่สาธารณรัฐเยอรมนีจะให้การสนับสนุนงบประมาณ 40 ล้านยูโร (ประมาณ 1,540 ล้านบาท) ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อผลกระทบ และการเสริมสร้างบทบาทของกองทุนสิ่งแวดล้อมของไทยในการสนับสนุนโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ เลขาธิการ สผ. ได้ขอให้สาธารณรัฐเยอรมนีเร่งสนับสนุนและผลักดันโครงการ TRANSfer project ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนายานยนต์สะอาดในประเทศไทย (Thailand Clean Mobility Programme: TCMP) โดยการออกแบบกลไกทางการเงินและโมเดลทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งมวลชน ซึ่งมีแผนที่จะจัดทำโครงการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

และขอให้เร่งผลักดันโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Strengthening Climate Smart Rice Farming) เพื่อส่งเสริมการทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและมีความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดส่งแนวคิดโครงการฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน Green Climate Fund

นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายหารือต่อแนวทางความร่วมมือในอนาคต ทั้งในสาขาเกษตร คมนาคม และการจัดการของเสีย และแสวงแนวทางความร่วมมือเพิ่มเติมภายใต้ NDC Partnership และ NAMA Facility เนื่องจากความร่วมมือและการสนับสนุนจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยยกระดับการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวฯ ของไทยให้บรรลุตามเป้าหมายที่แสดงเจตนารมย์ไว้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน