‘ไทย’ ร่วมมือ สมาพันธรัฐสวิส –ลาว กระชับความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอน และลดก๊าซเรือนกระจก

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด.ทส. นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หารือความร่วมมือเกี่ยวกับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส กับนาง Simonetta Sommaruga รมว.กระทรวงสิ่งแวดล้อม การขนส่ง พลังงาน และการสื่อสาร สมาพันธรัฐสวิส

โดยทั้งสองประเทศเน้นย้ำความตั้งใจที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมุ่งสนับสนุนการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ให้ประสบผลสำเร็จ และนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวมของโลกอย่างแท้จริง ทั้งนี้ รมว.ทส. ได้เน้นย้ำการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ท้าทายของประเทศไทย ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศในที่ประชุมสุดยอดระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ระหว่างการประชุม COP26 ว่าประเทศไทยจะมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนจากกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ เพื่อมุ่งบรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว ทั้งในเรื่องของการเงินสีเขียว การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถ

โดยความร่วมมือกับสมาพันธรัฐสวิสภายใต้แนวทางการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศของข้อ 6 ของความตกลงปารีส เป็นประเด็นหนึ่งที่ประเทศไทยให้ความสนใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งการสนับสนุนทางการเงิน ถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเสริมสร้างขีดความสามารถ โดยเฉพาะต่อภาคเอกชนในประเทศ

ขณะที่สมาพันธรัฐสวิสก็เห็นพ้องว่าการดำเนินความร่วมมือนี้ของภาครัฐ จะนำมาสู่การพัฒนาโครงการและกิจกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยสมาพันธรัฐสวิสมีความสนใจที่จะพัฒนาโครงการรถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า (E-bus) ในประเทศไทยภายใต้แนวทางการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศของข้อ 6 ของความตกลงปารีส เนื่องจากสมาพันธรัฐสวิสประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสาขานี้ ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ช่วยลดมลพิษทางอากาศและเสียง และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากภาคประชาชน

ทั้งสองประเทศต่างยึดถือหลักการสำคัญในเรื่องของความโปร่งใสในการดำเนินงานและการไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ของผลการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว นอกจากนั้น รมว.ทส. ได้เชิญชวนสมาพันธรัฐสวิส เข้าร่วมงาน Thailand Climate Action Conference ที่ ทส. มีกำหนดจัดขึ้นในช่วงวันสิ่งแวดล้อมโลกในเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้จังหวัดและส่วนภูมิภาค รวมถึงภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมนำเสนอสถานการณ์ ประสบการณ์และแสดงเจตจำนงในการมีส่วนร่วมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของตนในรูปแบบ bottom-up approach ด้วย

วันเดียวกัน นายวราวุธ พร้อมคณะได้ร่วมหารือทวิภาคีกับ ฯพณฯ บุณคำ วรจิต รมว.การกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญร่วมกัน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณภาพอากาศและหมอกควันข้ามแดน และการจัดการขยะพลาสติก ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งเน้นยกระดับการดำเนินงานในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ประเทศกำหนดไว้ได้

รวมถึงการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไทยและลาวต่างได้รับผลกระทบที่รุนแรงด้านสภาพภูมิอากาศเหมือนกัน อาทิ การหนุนสูงของน้ำทะเล และน้ำป่าไหลหลาก เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางฝ่ายลาวได้แสดงความขอบคุณความร่วมมือจากไทยต่อโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย-ลาว และขอรับการสนับสนุนในการพัฒนาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ การจัดการหมอกควันข้ามแดน และการจัดการขยะพลาสติกรวมถึงการผลิตพลังงานจากขยะ ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเชิงนโยบายในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ซึ่งฝ่ายไทยก็ยินดีสนับสนุนและเน้นย้ำว่าการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายร่วมกันจะเป็นประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่ายสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากทั้งไทยและลาวมีปัจจัยทางภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน พร้อมทั้งเห็นพ้องร่วมกันว่าการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐให้ประสบความสำเร็จนั้นย่อมเกิดจากการขับเคลื่อนของภาคเอกชนและภาคประชาชน

ซึ่งการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างไทยและลาวจะช่วยเสริมให้การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมบนฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตลอดจนสามารถบูรณาการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในมิติต่างๆ ได้เพราะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในสังคมโลกเราต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน