ปลัดมหาดไทย นำหารือการบริหารจัดการน้ำเสีย กทม.-แปดริ้ว เดินหน้าสร้างการมีส่วนร่วม ผ่าน “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถร.)” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน

วันที่ 22 ธ.ค.64 ที่ห้องประชุมดำรงธรรม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำเสียในคลองแสนแสบในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี นายพิศุทธิ์ สุขุม รักษาการในตำแหน่งวิศวกรใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ หนูสนิท ผู้อำนวยการกลุ่มงานทรัพยากรธรรมชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายกิตติ ธีรสรเดช ผู้จัดการฝ่ายจัดการน้ำเสีย 1 องค์การจัดการน้ำเสีย นายอมร กีรติสุนทร ท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเป็นการประชุมร่วมกับจังหวัดฉะเชิงเทราผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายพูลทรัพย์ สมบูรณ์ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ โดยบูรณาการพัฒนาทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์ และระบบบำบัดน้ำเสีย โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ และเร่งรัดให้ขับเคลื่อนการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ เพื่อมุ่งหวังให้คลองแสนแสบได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับและสั่งการให้กรุงเทพมหานคร และจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาและฟื้นฟูคลองแสนแสบ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในวันนี้ เป็นการประชุมเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำเสียในคลองแสนแสบที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันระหว่างกรุงเทพมหานคร และจังหวัดฉะเชิงเทรา ตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในปัจจุบัน มีตัวอย่างความสำเร็จขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนฟื้นฟูแม่น้ำ คู คลอง คือ “เทศบาลตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่” โดยมีผู้นำ คือ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยใช้องค์ความรู้ทางวิชาการมาถอดบทเรียนและสำรวจแนวเขตว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนในพื้นที่จะร่วมกันพัฒนา เช่น ขอบคลอง ชายคลอง รวมถึงหน้าบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน และเมื่อท้องถิ่นและประชาชนได้ร่วมกันสำรวจแนวเขตเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้แนวทาง “หลวงไม่รุกที่ราษฎร์ ราษฎร์ไม่รุกที่หลวง” และ วางแผนการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย เช่น บ้านเรือนทุกหลังต้องติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย บ่อเกรอะ ถังบำบัดไขมัน พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ ด้วยการขุดลอก และขุดขยายลำคลองให้กว้างเพิ่มขึ้น และตกแต่งโดยปลูกไม้ 5 ระดับตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำไปสู่การ “เปลี่ยนหลังบ้านเป็นหน้าบ้าน”

นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คลองแสนแสบ มีระยะทาง 74 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 47.5 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 26.5 กิโลเมตร ใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำ การคมนาคมขนส่ง และน้ำเพื่อการเกษตร โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสาเหตุหลักเกิดจาก 1) การปล่อยน้ำเสียของชุมชน ร้อยละ 70 สถานประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ร้อยละ 29 และเขม่าดินจากการเดินเรือ การเผาผลาญน้ำมันร้อยละ 1 วัดค่าความสกปรก (BOD) สูงสุด คือ คลองลาดพร้าว ในเขตบึงกุ่มและเขตบางกะปิ โดยกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ จำนวน 30 โครงการ แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1) การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน 2) การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ 3) การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ 4) การป้องกันปราบปราบ บุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ และ 5) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ

นายพูลทรัพย์ สมบูรณ์ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญปัญหาน้ำเน่าเสียบริเวณคลองแสนแสบมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการป้องกันการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ และการป้องกันน้ำเสียจากชุมชนไม่ให้ไหลลงไปสู่คลองแสนแสบ โดยสำรวจชุมชนที่อยู่รอบคลองแสนแสบที่มีทางน้ำไหลลงลงคลองให้ได้รับการบำบัด และมีกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึกในลำน้ำ และในอนาคตจะได้นำแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ประสบความสำเร็จมาพัฒนากิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมร่วมของประชาชนเพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดทำเส้นทางเรือสัญจรระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยการปรับรูปแบบประตูระบายน้ำให้มีลักษณะเป็นประตูเรือสัญจรได้ เป็นต้น

นายอมร กีรติสุนทร ท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า คลองแสนแสบ ในบริเวณพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ระยะทาง 26.5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศาลาแดง ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว ในพื้นที่รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาแดง เทศบาลตำบลศาลาแดง องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำเปรี้ยว เทศบาลตำบลบางน้ำเปรี้ยว เทศบาลตำบลคลองแสนแสบ และเทศบาลตำบลบางขนาก ซึ่งปัญหาในปัจจุบันเกิดสภาพปัญหาน้ำเสียจากครัวเรือนและชุมชน จากการทำการเกษตร ปุ๋ย เคมี และสารเคมีต่าง ๆ โรงงานอุตสาหกรรม และน้ำเสียที่เกิดจากผักตบชวาและวัชพืชต่าง ๆ

นายกิตติ ธีรสรเดช ผู้จัดการฝ่ายจัดการน้ำเสีย 1 องค์การจัดการน้ำเสีย กล่าวว่า องค์การจัดการน้ำเสีย ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบและศึกษาการจัดการน้ำเสียพื้นที่นอกกรุงเทพมหานคร โดยได้ทำการลงเรือสำรวจคุณภาพน้ำเมื่อปลายปี 2563 และต้นปี 2564 พบสาเหตุจากการเน่าเสียของผักตบชวาเป็นจำนวนมาก คุณภาพน้ำโดยรวม บริเวณชุมชนจะมีสีเขียวเข้ม เมื่อเลยเขตชุมชนคุณภาพน้ำดีขึ้น วัดค่าความสกปรก (BOD) สูงกว่ามาตรฐาน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้จังหวัดฉะเชิงเทราได้เพิ่มพูนแนวทางการแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ให้มีรายละเอียดภาพรวมที่ชัดเจน ต่อเนื่อง สามารถผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 6 แห่ง ร่วมกันวางแผนการขับเคลื่อนอย่างผสมผสานและเป็นไปในแนวทางรูปแบบเดียวกัน นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ผ่านการดำเนินกิจกรรม “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” หรือ อถร. ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 โดยประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 7 ปีบริบูรณ์ ร่วมเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก

สุดท้าย นายสุทธิพงษ์ มอบแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำเสียในคลองแสนแสบในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดฉะเชิงเทรา เพิ่มเติม 4 ด้าน ได้แก่ 1) ขอความร่วมมือกรุงเทพมหานครประสานหารือร่วมกับกรมชลประทานในการปรับแบบประตูระบายน้ำคลองแสนแสบเพื่อรองรับการขับเคลื่อนกิจกรรมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราในอนาคต 2) ให้จังหวัดฉะเชิงเทราหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการวางแผนบูรณาการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยกันฟื้นฟูพัฒนาคลองแสนแสบ โดยนำบทเรียนการฟื้นฟูคลองแม่โจ้ ของเทศบาลตำบลสันทรายหลวง มาประยุกต์ใช้ 3) ให้จังหวัดฉะเชิงเทราและกรุงเทพมหานคร ขับเคลื่อนกิจกรรม “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” และหารือกับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 6 แห่ง เพื่อสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ในการช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำ และ 4) ให้องค์การจัดการน้ำเสียหารือร่วมกับกรุงเทพมหานครในการจัดทำแผนงาน/โครงการขนาดใหญ่ในการบริหารจัดการน้ำเสียคลองแสนแสบภาพรวม

“เมื่อพี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วม มีจิตสำนึกสาธารณะ มีความรัก ความผูกพัน ต่อแหล่งน้ำสาธารณะ และช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำ โดยเริ่มจากต้นทาง คือ การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียครัวเรือน การคัดแยกขยะ เป็นต้น แม่น้ำลำคลองก็จะมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี พี่น้องประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้มีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน