‘รมว.วราวุธ’ แจงงบกรมอุทยานฯถูกตัด แต่ต้องดูแลสัตว์ป่า กว่า 26,000 ตัว ตามมาตรฐานการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ป่าทุกชีวิต เร่งแก้ปัญหาประสาน ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาเก็ต ขอรับอาหารส่วนเกินเลี้ยงสัตว์ป่า

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่ากรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกลดงบประมาณดูแลสัตว์ป่า จากเดิมได้รับปีละ 90 ล้านบาท กระทั่งช่วงสถานการณ์โควิดทำให้เหลืองบปีละ 10 ล้านบาท

เชื่อว่าคนรักสัตว์ป่าหลายท่าน คงได้ทราบข่าวและกังวลใจกรณีกรมอุทยานฯ ถูกลดงบประมาณดูแลสัตว์ป่า ซึ่งสวนทางกับจำนวนสัตว์ป่าของกลางที่เพิ่มขึ้น ที่ต้องใช้งบประมาณอย่างน้อยปีละ 55 ล้าน เพื่อดูแลสัตว์ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 2.6 หมื่นตัว

นายวราวุธ กล่าวว่า เบื้องต้นพวกเราได้เร่งหาหนทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสัตว์ป่าทุกตัวจะได้กินอิ่ม ไม่ต้องทุกข์ทรมานจากการอดอยาก โดยเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ร่วมกับบริษัท สยามแม็คโครฯ เพื่อนำอาหารส่วนเกินที่เหลือจากการจำหน่ายของห้างสรรพสินค้าในเครือแมคโคร มาบริจาคใช้เป็นอาหารสัตว์ป่า

เพื่อทดแทนในส่วนของงบประมาณอาหารสัตว์ป่าที่หายไป และยังลดปัญหาขยะอาหาร ที่นอกจากสิ้นเปลืองงบประมาณรัฐในการกำจัด แล้วยังก่อให้เกิดก๊าซมีเทนที่เป็นตัวการสร้างภาวะโลกร้อนอีกด้วย

โดยบริษัท สยามแม็คโครฯ จะส่งมอบอาหารที่ยังรับประทานได้ หรืออาหารส่วนเกิน ให้หน่วยงานกรมอุทยานฯ ที่อยู่ใกล้สาขาของศูนย์สินค้าแม็คโครในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่ง และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 27 แห่ง

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณในปี 2564 และ 2565 ที่ได้รับมาในจำนวนที่ค่อนข้างไม่เพียงพอ ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการแบ่งเงินจากส่วนอื่นๆ เข้ามาทดแทน เช่น เงินรายได้จากการเข้าชมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

ซึ่งมีรายได้ต่อปีประมาณ 10 กว่าล้านบาท โดยปี 2564 อยู่ที่ 16 ล้านบาท ก็นำมาช่วยเหลือดูแลสัตว์เกือบทั้งหมด รวมทั้งประสานงานภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการรับบริจาคอาหารบางส่วน มาช่วยเหลือสัตว์ป่า

นอกจากนี้ตนและทีมงาน ก็กำลังพยายามประสานงานติดต่อห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาเก็ตเครืออื่นๆในประเทศ เพื่อขอรับอาหารส่วนเกินมาเลี้ยงสัตว์ป่าในความดูแลของเราด้วยเช่นกัน

“ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ มีสัตว์ของกลางในคดี และสัตว์ป่วยที่ต้องดูแลเพิ่มขึ้นทุกปี สัตว์หลายชนิดไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ ทำให้รายจ่ายที่ใช้ในปีถัดๆ ไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น เคสเสือโคร่งวัดป่าหลวงตาบัว เป็นสายพันธุ์เบงกอล ไซบีเรีย และพันธุ์ผสมสองสายพันธุ์ ขณะนี้เหลือ 46 ตัว ที่เราต้องเลี้ยงดู จนกว่าจะหมดอายุขัย ไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ เนื่องจากสายพันธุ์ไม่ตรงกับเสือโคร่งในป่าไทยที่เป็นสายพันธุ์อินโดจีน

อีกทั้งเสือดังกล่าวไม่มีสัญชาตญาณป่า ล่าสัตว์เองไม่เป็น ส่วนสัตว์ป่าที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ ก็จะปล่อยคืนทั้งหมด เช่น ช้างป่าที่ป่วยหรือบาดเจ็บ เมื่อดูแลสุขภาพจนแข็งแรงแล้ว ก็จะปล่อยในพื้นที่ที่มีแหล่งอาหาร หรือถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม” นายวราวุธ ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน